เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 9. มาคันทิยสุตตนิทเทส
คำว่า ได้มาถึงความลุ่มหลงในทิฏฐิทั้งหลาย ที่ท่านถือมั่นไว้แล้ว อธิบายว่า
ทิฏฐิใด ท่านถือ คือ ยึดมั่น ถือมั่น ติดใจ น้อมใจเชื่อแล้ว ท่านหลง คือ ลุ่มหลง
หลงงมงาย ถึงความหลง ถึงความลุ่มหลง ถึงความหลงงมงาย แล่นไปสู่ความ
มืดมนแล้ว ในทิฏฐินั้น รวมความว่า ได้มาถึงความลุ่มหลงในทิฏฐิทั้งหลาย ที่ท่าน
ถือมั่นไว้แล้ว
คำว่า และท่านก็มิได้เห็นสัญญาแม้น้อยหนึ่งจากธรรมนี้ อธิบายว่า ท่าน
ไม่ได้พบสัญญาอันสมควร สัญญาที่ถึงแล้ว สัญญาในลักษณะ สัญญาในเหตุ หรือ
สัญญาในฐานะ จากธรรมนี้ คือ จากความสงบภายใน จากข้อปฏิบัติ หรือจาก
ธรรมเทศนาเลย ท่านจักได้ญาณจากที่ไหนเล่า รวมความว่า และท่านก็มิได้เห็น
สัญญาแม้น้อยหนึ่งจากธรรมนี้ อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ท่านไม่ได้พบเบญจขันธ์ซึ่งไม่เที่ยง หรือญาณซึ่งอนุโลม
อนิจจสัญญา เบญจขันธ์ซึ่งเป็นทุกข์ หรือญาณซึ่งอนุโลมทุกขสัญญา ธรรมซึ่งเป็น
อนัตตา หรือ ญาณซึ่งอนุโลมอนัตตสัญญา ธรรมเพียงแต่ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา
หรือธรรมเป็นนิมิตแห่งสัญญาเลย ท่านจักได้ญาณจากที่ไหน รวมความว่า และท่าน
มิได้เห็นสัญญาแม้น้อยหนึ่งจากธรรมนี้ อย่างนี้บ้าง
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น ท่านจึงประสบแต่ความงมงาย
อธิบายว่า เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น
เพราะต้นเหตุนั้น ท่านจึงประสบ คือ เห็น แลเห็น มองดู เพ่งพินิจ พิจารณา
ดูแต่ธรรมคือความงมงาย ธรรมของคนเขลา ธรรมของคนหลง ธรรมของคนไม่รู้
ธรรมของคนที่มีลัทธิหลบเลี่ยงไม่แน่นอน รวมความว่า เพราะฉะนั้น ท่านจึงประสบ
แต่ความงมงาย ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า มาคันทิยะ
เพราะอาศัยทิฏฐิทั้งหลาย ท่านจึงถามเนือง ๆ
ได้มาถึงความลุ่มหลงในทิฏฐิทั้งหลาย ที่ท่านถือมั่นไว้แล้ว
และท่านก็มิได้เห็นสัญญาแม้น้อยหนึ่งจากธรรมนี้
เพราะฉะนั้น ท่านจึงประสบแต่ความงมงาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :230 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 9. มาคันทิยสุตตนิทเทส
[77] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า)
ผู้ใดสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา หรือด้อยกว่าเขา
ผู้นั้นพึงต้องวิวาทกันด้วยความถือตัวนั้น
บุคคลไม่หวั่นไหวในเพราะความถือตัว 3 อย่าง
ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา
(หรือด้อยกว่าเขา) จึงไม่มีแก่บุคคลนั้น
คำว่า ผู้ใดสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา หรือด้อยกว่าเขา ผู้นั้น
พึงต้องวิวาทกันด้วยความถือตัวนั้น อธิบายว่า ผู้ใดสำคัญว่า "เราเสมอเขา
เราเลิศกว่าเขา หรือ เราด้อยกว่าเขา" ผู้นั้น พึงต้องก่อการทะเลาะ ก่อการบาดหมาง
ก่อการแก่งแย่ง ก่อการวิวาท ก่อการมุ่งร้าย ด้วยความถือตัวนั้น คือ ด้วยทิฏฐินั้น
หรือกับบุคคลนั้นว่า "ท่านไม่รู้ธรรมวินัยนี้ เรารู้ธรรมวินัยนี้ ท่านจักรู้ธรรมวินัย
นี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด เราปฏิบัติถูกต้อง คำของเรามีประโยชน์ คำของท่าน
ไม่มีประโยชน์ คำที่ควรพูดก่อนท่านกลับพูดทีหลัง คำที่ควรพูดทีหลังท่าน
กลับพูดก่อน คำที่ท่านใช้เสมอกลับติดขัด วาทะของท่านเราหักล้างได้แล้ว
เราปราบปรามท่านได้แล้ว ท่านจงเที่ยวไปเพื่อเปลื้องวาทะ หรือหากท่านสามารถ
ก็จงแก้ไขเถิด" รวมความว่า ผู้ใดสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา หรือด้อยกว่าเขา
ผู้นั้นพึงต้องวิวาทกันด้วยความถือตัวนั้น
คำว่า บุคคลไม่หวั่นไหวในเพราะความถือตัว 3 อย่าง ความสำคัญว่า
เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา(หรือด้อยกว่าเขา) จึงไม่มีแก่บุคคลนั้น อธิบายว่า
ความถือตัว 3 อย่างเหล่านี้ ผู้ใด ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว
ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นย่อมไม่หวั่นไหว คือ
ไม่เอนเอียง ในความถือตัว 3 อย่างเหล่านั้น ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เราเลิศ
กว่าเขา หรือเราด้อยกว่าเขา ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่หวั่นไหว
คำว่า ไม่มีแก่บุคคลนั้น ได้แก่ ไม่มีแก่เรา รวมความว่า บุคคลไม่หวั่นไหวใน
เพราะความถือตัว 3 อย่าง ความสำคัญว่า "เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา หรือด้อย
กว่าเขา จึงไม่มีแก่บุคคลนั้น" ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :231 }