เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 9. มาคันทิยสุตตนิทเทส
คำว่า เมื่อเลือกเฟ้น ได้แก่ เมื่อเลือกเฟ้น คือ เลือกสรร ชี้ขาด เทียบเคียง
พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งว่า "สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง" เมื่อเลือกเฟ้น
คือ เลือกสรร ชี้ขาด เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งว่า
"สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ... ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ... สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้น
เป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมด ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา"
คำว่า จึงได้เห็น ได้แก่ จึงได้เห็น คือ ได้ดู ได้มองเห็น ได้แทงตลอด
รวมความว่า เมื่อเลือกเฟ้น จึงได้เห็นความสงบภายใน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสตอบว่า มาคันทิยะ
การตกลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่นว่า
เรากล่าวสิ่งนี้ ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เรานั้น
เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่ยึดมั่น
เมื่อเลือกเฟ้น จึงได้เห็นความสงบภายใน
[73] (มาคันทิยพราหมณ์ทูลถามดังนี้)
ทิฏฐิเหล่าใดที่ตกลงใจกำหนดไว้แล้ว
มุนีไม่ยึดมั่นทิฏฐิเหล่านั้นแล
กล่าวเนื้อความใดว่า ความสงบภายใน
เนื้อความนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศไว้อย่างไรหนอ
คำว่า ทิฏฐิเหล่าใดที่ตกลงใจกำหนดไว้แล้ว ได้แก่ ทิฏฐิ 62 พราหมณ์
เรียกว่า ความตกลงใจ
คำว่า กำหนดไว้แล้ว ได้แก่ กำหนดแล้ว กำหนดไว้แล้ว คือ ปรุงแต่งไว้แล้ว
ตั้งไว้ดีแล้ว รวมความว่า กำหนดไว้แล้ว
อีกนัยหนึ่ง ทิฏฐิทั้งหลายที่กำหนด ไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยกัน
เกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไป
เป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา รวมความว่า
ทิฏฐิเหล่าใดที่ตกลงใจกำหนดไว้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :221 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 9. มาคันทิยสุตตนิทเทส
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า มาคันทิยพราหมณ์ทูลถามดังนี้ เป็นบทสนธิ ... คำว่า
ดังนี้ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า มาคันทิยะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น คือเป็นการกล่าวถึง การ
ขนานนาม การบัญญัติ เป็นชื่อที่เรียกกัน รวมความว่า มาคันทิยพราหมณ์ทูลถาม
ดังนี้
คำว่า เหล่านั้นแล ในคำว่า มุนีไม่ยึดมั่นทิฏฐิเหล่านั้นแล กล่าวเนื้อความใด
ว่า ความสงบภายใน ได้แก่ ทิฏฐิ 62
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ ... ผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้อง
และตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี
คำว่า ไม่ยึดมั่น อธิบายว่า ท่านกล่าวว่า เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลาย
จึงไม่ถือ คือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นทิฏฐิทั้งหลาย และกล่าวว่า มีความสงบภายใน
คำว่า เนื้อความใด ได้แก่ เนื้อความที่ดีเยี่ยมใด รวมความว่า มุนีไม่ยึดมั่น
ทิฏฐิเหล่านั้นแล กล่าวเนื้อความใดว่า ความสงบภายใน
คำว่า อย่างไรหนอ ในคำว่า เนื้อความนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศไว้
อย่างไรหนอ เป็นคำถามด้วยความสงสัย เป็นคำถามด้วยความข้องใจ เป็น
คำถาม 2 แง่ เป็นคำถามมีแง่มุมหลายหลากว่า อย่างนี้หรือหนอ มิใช่หรือหนอ
เป็นอะไรเล่าหนอ เป็นอย่างไรเล่าหนอ รวมความว่า อย่างไรหนอ
คำว่า นักปราชญ์ทั้งหลาย ได้แก่ นักปราชญ์ทั้งหลาย คือ บัณฑิต ผู้มีปัญญา
มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
คำว่า ประกาศไว้ ได้แก่ ประกาศไว้ คือ ประกาศให้ทราบ บอก แสดง
บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศไว้แล้ว รวมความว่า
เนื้อความนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศไว้อย่างไรหนอ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้น
จึงกล่าวว่า
ทิฏฐิเหล่าใดที่ตกลงใจกำหนดไว้แล้ว
มุนีไม่ยึดมั่นทิฏฐิเหล่านั้นแล
กล่าวเนื้อความใดว่า ความสงบภายใน
เนื้อความนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศไว้อย่างไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :222 }