เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 1. กามสุตตนิทเทส
คำว่า อันตรายทั้งหลายย่ำยีนรชนนั้น ได้แก่ อันตรายเหล่านั้นย่อมเข้า
ครอบครอง ยึดครอง ครอบงำ ท่วมทับ รัดรึง ย่ำยีบุคคลนั้น รวมความว่า อันตราย
ทั้งหลายย่ำยีนรชนนั้น
คำว่า นั้น ในคำว่า เพราะอันตรายนั้น ทุกข์จึงติดตามนรชนนั้นไป อธิบายว่า
เพราะอันตรายนั้น ๆ ทุกข์จึงติดตาม ไปตาม ไล่ตามบุคคลนั้น คือ ชาติทุกข์
จึงติดตาม ไปตาม ไล่ตาม ชราทุกข์... พยาธิทุกข์... มรณทุกข์... ทุกข์คือความเศร้าโศก
ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ... ทุกข์เนื่องจากการ
เกิดในนรก... ทุกข์เนื่องจากการเกิดในกำเนิดเดรัจฉาน... ทุกข์เนื่องจากการเกิดใน
เปตวิสัย... ทุกข์เนื่องจากการเกิดในโลกมนุษย์... ทุกข์เนื่องจากการถือกำเนิดในครรภ์...
ทุกข์เนื่องจากการอยู่ในครรภ์... ทุกข์เนื่องจากการคลอดจากครรภ์... ทุกข์ที่สืบเนื่อง
มาจากผู้เกิด... ทุกข์ของผู้เกิดที่เนื่องมาจากผู้อื่น... ทุกข์ที่เกิดจากความพยายาม
ของตนเอง... ทุกข์ที่เกิดจากความพยายามของผู้อื่น... ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ...
ทุกข์ที่เกิดจากสังขาร... ทุกข์ที่เกิดจากความแปรผัน... โรคทางตา โรคทางหู โรค
ทางจมูก โรคทางลิ้น โรคทางกาย โรคศีรษะ โรคหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด
ไข้หวัด ไข้พิษ ไข้เชื่อมซึม โรคท้อง เป็นลมสลบ ลงแดง จุกเสียด อหิวาตกโรค โรค
เรื้อน ฝี กลาก มองคร่อ ลมบ้าหมู หิดเปื่อย หิดด้าน หิด หูด โรคละลอก โรคดีซ่าน
โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวงทวาร ความเจ็บป่วยที่เกิดจากดี
ความเจ็บป่วยที่เกิดจากเสมหะ ความเจ็บป่วยที่เกิดจากลม ไข้สันนิบาต ความเจ็บ
ป่วยที่เกิดจากการเปลี่ยนฤดูกาล ความเจ็บป่วยที่เกิดจากการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ
ไม่ได้ส่วนกัน ความเจ็บป่วยที่เกิดจากความพากเพียรเกินกำลัง ความเจ็บป่วยที่เกิด
จากผลกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ ปวด
ปัสสาวะ ทุกข์ที่เกิดจากสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน ทุกข์
เพราะมารดาตาย ทุกข์เพราะบิดาตาย ทุกข์เพราะพี่ชายน้องชายตาย ทุกข์เพราะ
พี่สาวน้องสาวตาย ทุกข์เพราะบุตรตาย ทุกข์เพราะธิดาตาย ทุกข์เพราะความพินาศ
ของญาติ ทุกข์เพราะโภคทรัพย์พินาศ ทุกข์เพราะความเสียหายที่เกิดจากโรค ทุกข์
เพราะสีลวิบัติ ทุกข์เพราะทิฏฐิวิบัติจึงติดตาม ไปตาม ไล่ตามบุคคลนั้น รวมความว่า
เพราะอันตรายนั้น ทุกข์จึงติดตามนรชนนั้นไป


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :22 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 1. กามสุตตนิทเทส
คำว่า เหมือนน้ำไหลเข้าเรือรั่ว อธิบายว่า เปรียบเหมือนน้ำไหลเข้าเรือรั่ว
คือ น้ำไหลเข้า พุ่งเข้า ทะลักเข้าตามรอยรั่วนั้น ๆ ได้แก่ น้ำไหลเข้า พุ่งเข้า ทะลักเข้า
ด้านหัวเรือบ้าง ด้านท้ายเรือบ้าง ด้านท้องเรือบ้าง ด้านข้างเรือบ้าง ฉันใด เพราะ
อันตรายนั้นๆ ทุกข์จึงติดตาม ไปตาม ไล่ตามบุคคลนั้น คือ ชาติทุกข์... ทุกข์เพราะ
ทิฏฐิวิบัติจึงติดตาม ไปตาม ไล่ตามบุคคลนั้น เหมือนกันฉันนั้น รวมความว่า
เหมือนน้ำไหลเข้าเรือรั่ว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
กิเลสทั้งหลายอันไม่มีกำลังครอบงำนรชนนั้น
อันตรายทั้งหลายย่ำยีนรชนนั้น
เพราะอันตรายนั้น ทุกข์จึงติดตามนรชนนั้นไป
เหมือนน้ำไหลเข้าเรือรั่ว ฉะนั้น
[6] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดพึงมีสติทุกเมื่อ ละกามทั้งหลายได้
ครั้นละกามเหล่านั้นได้แล้ว พึงข้ามโอฆะ1 ได้
เหมือนคนวิดน้ำเรือแล้วไปถึงฝั่งได้ ฉะนั้น
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดพึงมีสติทุกเมื่อ ได้แก่
เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะต้นเหตุนั้น
สัตว์เกิดเมื่อเห็นโทษนั้นในกามทั้งหลาย รวมความว่า เพราะฉะนั้น
คำว่า สัตว์เกิด ได้แก่ สัตว์ คือ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด
สัตว์เกิด ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์
คำว่า ทุกเมื่อ อธิบายว่า ทุกเมื่อ คือ ในกาลทั้งปวง ตลอดกาลทั้งปวง
ตลอดกาลเป็นนิจ ตลอดกาลยั่งยืน ตลอดกาลต่อเนื่องกัน ตลอดกาลสืบเนื่องกัน
ตลอดกาลติดต่อกัน ตลอดกาลเป็นลำดับ ตลอดกาลติดต่อกันเหมือนระลอกคลื่น
ตลอดกาลเป็นไปต่อเนื่องไม่ขาดสาย ตลอดกาลสืบต่อกันกระชั้นชิด ตลอดกาล
ก่อนภัต หลังภัต ตลอดปฐมยาม มัชฌิมยาม ปัจฉิมยาม ตลอดข้างแรม ข้างขึ้น
ตลอดฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน ตลอดปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย

เชิงอรรถ :
1 โอฆะ ดูเชิงอรรถข้อ 3/11

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :23 }