เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 8. ปสูรสุตตนิทเทส
ได้ยาก เป็นภัพพสัตว์ เป็นอภัพพสัตว์ โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมเป็นไปภายในพระพุทธญาณ
ปลาและเต่าชนิดใดชนิดหนึ่ง รวมทั้งปลาติมิ ปลาติมิงคละและปลาติ-
มิติมิงคละ1 ย่อมเป็นไปอยู่ภายในมหาสมุทร ฉันใด โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมเป็นไปภายใน
พระญาณของพระพุทธเจ้า ฉันนั้นเหมือนกัน นกชนิดใดชนิดหนึ่ง รวมทั้งครุฑนาม
ว่าเวนไตย ย่อมบินไปในห้วงแห่งอากาศ ฉันใด พระพุทธสาวกทั้งหลาย ผู้เสมอกับ
พระสารีบุตรด้วยปัญญา ย่อมเป็นไปในส่วนแห่งพระพุทธญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน
พระพุทธญาณย่อมแผ่ครอบคลุมปัญญาของเทวดาและมนุษย์อยู่
เหล่าบัณฑิตผู้เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นคหบดี เป็นสมณะ ผู้มีปัญญา
ละเอียด รู้วาทะของผู้อื่น เหมือนนายขมังธนูสามารถยิงเนื้อทรายได้ ดุจจะเที่ยวทำ
ลายทิฏฐิผู้อื่นด้วยปัญญาตน บัณฑิตเหล่านั้นพากันปรุงแต่งปัญหา ย่อมเข้าไปหา
พระตถาคตแล้ว ทูลถามปัญหาที่ลี้ลับและปิดบัง ปัญหาเหล่านั้น ที่พระผู้มีพระภาค
ทรงซักไซ้และตรัสแก้แล้ว เป็นปัญหามีเหตุให้ทรงแสดง บัณฑิตเหล่านั้นถูกดึงดูด
ด้วยการวิสัชนาปัญหา จึงเลื่อมใสพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคย่อมทรงรุ่งเรือง
ยิ่งด้วยพระปัญญาในหมู่คนเหล่านั้นโดยแท้แล รวมความว่า เธอ...มาถึงการแข่ง
คู่กับเราผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดแล้ว ย่อมไม่สามารถเทียมทันได้เลย ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
อนึ่ง เธอตรึกอยู่มาแล้ว เธอคิดทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจ
มาถึงการแข่งคู่กับเราผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดแล้ว
ย่อมไม่สามารถเทียมทันได้เลย
ปสูรสุตตนิทเทสที่ 8 จบ

เชิงอรรถ :
1 ปลาทั้ง 3 ตัวนี้เป็นปลาขนาดใหญ่ คือปลาติมิงคละสามารถกลืนกินปลาติมิได้ และปลาติมิติมิงคละ
มีขนาดลำตัวใหญ่ถึง 500 โยชน์ และสามารถกลืนกินปลาติมิงคละได้ (ขุ.ม.อ. 69/297)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :216 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 9. มาคันทิยสุตตนิทเทส
9. มาคันทิยสุตตนิทเทส1
อธิบายมาคันทิยสูตร
ว่าด้วยเมถุนธรรม
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายมาคันทิยสูตร ดังต่อไปนี้
[70] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เพราะเห็นนางตัณหา นางอรดี และนางราคา
ก็ไม่ได้มีความพอใจในเมถุนธรรม
จักมีความพอใจ เพราะเห็นเรือนร่าง
ที่เต็มไปด้วยปัสสาวะและอุจจาระนี้อย่างไรได้เล่า
เราไม่ปรารถนาจะถูกต้องเรือนร่างนางแม้ด้วยเท้า
คำว่า เพราะเห็นนางตัณหา นางอรดี และนางราคา ก็ไม่ได้มีความ
พอใจในเมถุนธรรม อธิบายว่า เพราะเห็น คือ แลเห็นเหล่าธิดามาร ได้แก่
นางตัณหา นางอรดีและนางราคา ก็ไม่ได้มีความพอใจ ความกำหนัด หรือความรัก
ในเมถุนธรรม รวมความว่า เพราะเห็นนางตัณหา นางอรดีและนางราคา ก็ไม่ได้มี
ความพอใจในเมถุนธรรม
คำว่า จักมีความพอใจ เพราะเห็นเรือนร่างที่เต็มไปด้วยปัสสาวะและ
อุจจาระนี้อย่างไรได้เล่า เราไม่ปรารถนาจะถูกต้องเรือนร่างนางแม้ด้วยเท้า
อธิบายว่า จักมีความพอใจ เพราะเห็นเรือนร่างที่เต็มไปด้วยปัสสาวะ อุจจาระ
เสมหะ เลือด มีกระดูกเป็นโครง มีเอ็นเป็นเครื่องผูกพัน มีเลือดและเนื้อเป็นเครื่อง
ฉาบทา ห่อหุ้มด้วยหนัง ปิดบังด้วยผิวหนัง มีช่องเล็กช่องใหญ่ ไหลเข้าออกอยู่เสมอ
มีหมู่หนอนแฝงตัวอยู่ เต็มไปด้วยมลทินโทษต่าง ๆ นี้ อย่างไรได้เล่า เราไม่ปรารถนา
จะเหยียบด้วยเท้า การสังวาส หรือการสมาคม จักมีมาจากไหนได้ รวมความว่า
จักมีความพอใจ เพราะเห็นเรือนร่างที่เต็มไปด้วยปัสสาวะและอุจจาระนี้อย่างไรได้เล่า
เราไม่ปรารถนาจะถูกต้องเรือนร่างนางแม้ด้วยเท้า ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง
ตรัสว่า

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/842-854/498-501

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :217 }