เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 8. ปสูรสุตตนิทเทส
ผู้ฉลาดเหล่านั้น ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงความหมดจด คือ ความ
สะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป ด้วยการทะเลาะ
กันเพราะทิฏฐิ การบาดหมางกันเพราะทิฏฐิ การแก่งแย่งกันเพราะทิฏฐิ การวิวาท
กันเพราะทิฏฐิ การมุ่งร้ายกันเพราะทิฏฐิ รวมความว่า เพราะผู้ฉลาดทั้งหลาย
ไม่กล่าวความหมดจดด้วยการวิวาทกันนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ความลำพองตน ย่อมเป็นภูมิสำหรับย่ำยีของเขา
เขาจึงกล่าวคำถือตัวและคำดูหมิ่นกัน
บุคคลเห็นโทษนี้แล้ว ไม่ควรวิวาทกัน
เพราะผู้ฉลาดทั้งหลาย ไม่กล่าวความหมดจด
ด้วยการวิวาทกันนั้น
[66] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
คนกล้าที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยของเสวยของพระราชา
เขาคึกคะนอง อยากพบคนกล้าฝ่ายตรงข้าม ย่อมได้พบ ฉันใด
(เจ้าลัทธิ ย่อมได้พบเจ้าลัทธิ ฉันนั้น)
ผู้กล้าเอ๋ย เจ้าลัทธิอยู่ที่ใด เธอจงไปเสียจากที่นั้นเถิด
เพราะกิเลสที่เคยมีแต่ก่อนของตถาคต มิได้มีเพื่อการรบ
คำว่า คนกล้า ในคำว่า คนกล้าที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยของเสวยของ
พระราชา ได้แก่ คนกล้า คือ ผู้กล้าหาญ นักสู้ ผู้ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่
สะดุ้งกลัว ไม่หนี
คำว่า ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยของเสวยของพระราชา ได้แก่ ได้รับการเลี้ยงดู
คือ ชุบเลี้ยง ทำให้เจริญ ทำให้เติบโต ด้วยเครื่องขบเคี้ยวของพระราชา ด้วยเครื่อง
เสวยของพระราชา รวมความว่า คนกล้าที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยของเสวยของ
พระราชา
คำว่า เขาคึกคะนอง อยากพบคนกล้าฝ่ายตรงข้าม ย่อมได้พบ ฉันใด
อธิบายว่า เขาคึกคะนอง ร้องท้าทาย ตะโกนกึกก้อง อยากพบ คือ ยินดี ปรารถนา
มุ่งหมาย มุ่งหวัง ผู้กล้าฝ่ายตรงข้าม คือ คนฝ่ายตรงข้าม ศัตรูฝ่ายตรงข้าม นักปล้ำ
ฝ่ายตรงข้าม ย่อมได้พบ คือ เข้าพบ เข้าไปพบ รวมความว่า เขาคึกคะนอง
อยากพบคนกล้าฝ่ายตรงข้าม ย่อมได้พบ ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :207 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 8. ปสูรสุตตนิทเทส
คำว่า ผู้กล้าเอ๋ย เจ้าลัทธิอยู่ที่ใด เธอจงไปเสียจากที่นั้นเถิด อธิบายว่า
เจ้าลัทธินั้นอยู่ที่ใด เธอจงไปเสียจากที่นั้น คือ จงเว้น จงไป จงก้าวหลีกจากที่นั้น
เพราะเขาเป็นผู้กล้าฝ่ายตรงข้าม เป็นคนฝ่ายตรงข้าม เป็นศัตรูฝ่ายตรงข้าม เป็น
นักปล้ำฝ่ายตรงข้ามของเธอ รวมความว่า ผู้กล้าเอ๋ย เจ้าลัทธิอยู่ที่ใด เธอจงไปเสีย
จากที่นั้นเถิด
คำว่า เพราะกิเลสที่เคยมีแต่ก่อนของตถาคต มิได้มีเพื่อการรบ อธิบายว่า
กิเลสเหล่าใด ซึ่งทำความเป็นข้าศึก ทำความขัดขวาง ทำความเป็นเสี้ยนหนาม
ทำความเป็นปฏิปักษ์ เมื่อก่อน คือ ที่โคนต้นโพธิ์ กิเลสเหล่านั้น ไม่มี ไม่มีอยู่ ไม่
ปรากฏ หาไม่ได้แก่ตถาคต คือ กิเลสเหล่านั้นตถาคตละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว
ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว
คำว่า เพื่อการรบ ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่การรบ คือ เพื่อประโยชน์แก่การ
ทะเลาะกัน เพื่อประโยชน์แก่การบาดหมางกัน เพื่อประโยชน์แก่การแก่งแย่งกัน
เพื่อประโยชน์แก่การวิวาทกัน เพื่อประโยชน์แก่การมุ่งร้ายกัน รวมความว่า เพราะ
กิเลสที่เคยมีแต่ก่อนของตถาคต มิได้มีเพื่อการรบ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า
คนกล้าที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยของเสวยของพระราชา
เขาคึกคะนอง อยากพบคนกล้าฝ่ายตรงข้าม ย่อมได้พบ ฉันใด
(เจ้าลัทธิ ย่อมได้พบเจ้าลัทธิ ฉันนั้น)
ผู้กล้าเอ๋ย เจ้าลัทธิอยู่ที่ใด เธอจงไปเสียจากที่นั้นเถิด
เพราะกิเลสที่เคยมีแต่ก่อนของตถาคต มิได้มีเพื่อการรบ
[67] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ชนเหล่าใดถือทิฏฐิแล้ววิวาทกัน
และกล่าวอ้างว่า นี้เท่านั้นจริง
เธอจงพูดกับชนเหล่านั้นว่า กิเลสที่เป็นข้าศึกกัน
เมื่อวาทะเกิด ไม่มีในธรรมวินัยนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :208 }