เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 1. กามสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง กามที่เป็นอดีต ที่เป็นอนาคต ที่เป็นปัจจุบัน กามที่เป็นภายใน
ที่เป็นภายนอก ที่เป็นทั้งภายในและภายนอก กามอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่าง
ประณีต กามที่เป็นของสัตว์ในอบาย ที่เป็นของมนุษย์ ที่เป็นของทิพย์ กามที่ปรากฏ
เฉพาะหน้า ที่เนรมิตขึ้นเอง ที่ไม่ได้เนรมิตขึ้นเอง ที่ผู้อื่นเนรมิตให้ กามที่มีผู้
ครอบครอง ที่ไม่มีผู้ครอบครอง ที่ยึดถือว่าเป็นของเรา ที่ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา
สภาวธรรมที่เป็นกามาวจร1 ที่เป็นรูปาวจร2 ที่เป็นอรูปาวจร3แม้ทั้งปวง กามที่เป็นเหตุ
เกิดแห่งตัณหา เป็นอารมณ์แห่งตัณหา ที่ชื่อว่ากาม เพราะมีความหมายว่า
น่าปรารถนา น่ายินดี น่าลุ่มหลง เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม
กิเลสกาม คืออะไร
คือ ความพอใจ ความกำหนัด ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ความดำริ
ความกำหนัด ความกำหนัดด้วยอำนาจความดำริชื่อว่ากาม ได้แก่ ความพอใจด้วย
อำนาจความใคร่ ความกำหนัดด้วยอำนาจความใคร่ ความเพลิดเพลินด้วยอำนาจ
ความใคร่ ความทะยานอยากด้วยอำนาจความใคร่ ความเยื่อใยด้วยอำนาจความใคร่
ความเร่าร้อนด้วยอำนาจความใคร่ ความสยบด้วยอำนาจความใคร่ ความติดใจด้วย
อำนาจความใคร่ ห้วงน้ำคือความใคร่ กิเลสเครื่องประกอบคือความใคร่ กิเลสเครื่อง
ยึดมั่นคือความใคร่ กิเลสเครื่องกั้นจิตคือความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ในกาม
ทั้งหลาย
(สมจริงดังที่พระเจ้าอัฑฒมาสกเปล่งอุทานว่า)
เจ้ากามเอ๋ย เราเห็นรากเหง้าของเจ้าแล้ว
เจ้าเกิดเพราะความดำริ เราจักไม่ดำริถึงเจ้าอีก
เจ้าจักไม่เกิดมาเป็นอย่างนี้ได้อีกละเจ้ากามเอ๋ย4
เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม

เชิงอรรถ :
1 กามาวจร คือระดับจิตของผู้ที่ยังปรารภกามเป็นอารมณ์ ได้แก่ จิตของสัตว์ในกามภพทั้ง 11 ชั้น คือ
(1) อบายภูมิ 4 (2) มนุษยโลก (3) สวรรค์ 6 ชั้น (ขุ.ม.อ. 1/16)
2 รูปาวจร คือระดับจิตของผู้ได้รูปฌาน ได้แก่ สัตว์ผู้เกิดในพรหมโลก 16 ชั้น ตั้งแต่ชั้นพรหมปาริสัชชา
จนถึงชั้นอกนิฏฐา (ขุ.ม.อ. 1/16)
3 อรูปาวจร คือ ระดับจิตของผู้ได้อรูปฌาน ได้แก่ สัตว์ผู้เกิดในอรูปพรหม 4 ชั้น (ขุ.ม.อ. 1/16)
4 ขุ.ชา. 27/39/188, ขุ.จู. 30/8/39

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :2 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 1. กามสุตตนิทเทส
คำว่า ผู้อยากได้กามอยู่ ได้แก่ ผู้อยากได้กาม คือ ผู้ต้องการ ยินดี
ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังกามอยู่ รวมความว่า ผู้อยากได้กามอยู่
คำว่า ถ้า...แก่สัตว์นั้น ในคำว่า ถ้ากามนั้นสำเร็จด้วยดีแก่สัตว์นั้น
อธิบายว่า สัตว์นั้น คือ ผู้เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต
เทวดา หรือมนุษย์
คำว่า กามนั้น ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าพอใจ เรียกว่า
วัตถุกาม
คำว่า สำเร็จด้วยดี ได้แก่ สำเร็จผล สำเร็จด้วยดี ได้ ได้รับ สมหวัง ประสบ
รวมความว่า ถ้ากามนั้นสำเร็จด้วยดีแก่สัตว์นั้น
คำว่า แน่แท้ ในคำว่า ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่แท้ เป็นคำกล่าวโดยนัยเดียว
เป็นคำกล่าวโดยไม่สงสัย เป็นคำกล่าวโดยไม่เคลือบแคลง เป็นคำกล่าวโดยไม่เป็น
2 นัย เป็นคำกล่าวโดยไม่เป็น 2 อย่าง เป็นคำกล่าวโดยรัดกุม เป็นคำกล่าวโดย
ไม่ผิด คำว่า แน่แท้ นี้ เป็นคำกล่าวที่กำหนดไว้แน่แล้ว
คำว่า อิ่ม ได้แก่ ความอิ่มเอิบ ความปราโมทย์ ความบันเทิง ความเบิกบาน
ความร่าเริง ความรื่นเริง ความปลื้มใจ ความยินดี ความมีใจสูง ความมีใจแช่มชื่น
ความเต็มใจ ที่ประกอบด้วยกามคุณ 5
คำว่า ใจ ได้แก่ จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์
วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ1 ที่เกิดจากผัสสะเป็นต้นนั้น นี้เรียกว่า
ใจ ใจนี้ ไปพร้อมกัน คือ เกิดร่วมกัน ระคนกัน เกี่ยวเนื่องกัน เกิดพร้อมกัน
ดับพร้อมกัน มีวัตถุอย่างเดียวกัน มีอารมณ์อย่างเดียวกันกับความอิ่มเอิบนี้

เชิงอรรถ :
1 ชื่อว่า จิต เพราะเป็นสภาวะวิจิตร ชื่อว่า มโน เพราะรับรู้อารมณ์
ชื่อว่า มานัส เพราะมีธรรมที่สัมปยุตกับมโน หรือมานัสก็คือใจนั่นเอง
ชื่อว่า หทัย เพราะอยู่ภายใน ชื่อว่า ปัณฑระ เพราะเป็นธรรมชาติผ่องใส
ชื่อว่า มนายตนะ เพราะเป็นที่อยู่อาศัย, เป็นบ่อเกิด, เป็นที่ประชุม, เป็นแดนเกิดแห่งใจ
ชื่อว่า มนินทรีย์ เพราะเป็นใหญ่ในการรับรู้อารมณ์
ชื่อว่า วิญญาณ เพราะรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ชื่อว่า วิญญาณขันธ์ เพราะเป็นกองแห่งวิญญาณ
ชื่อว่า มโนวิญญาณธาตุ เพราะเป็นสภาวะที่รับรู้และรับทราบอันสมควรแก่ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้น
(ขุ.ม.อ. 1/22-23)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :3 }