เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 8. ปสูรสุตตนิทเทส
[61] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
คนผู้ประกอบถ้อยคำ(เพื่อกล่าว)ในท่ามกลางบริษัท
เมื่ออยากได้ความสรรเสริญ ย่อมเป็นผู้ลังเลใจ
เป็นผู้เก้อเขิน ในเมื่อถูกค้านตกไป ย่อมโกรธเคือง
เพราะคำนินทา แสวงหาข้อแก้ตัว

ว่าด้วยแพ้วาทะแล้วขัดเคือง
คำว่า คนผู้ประกอบถ้อยคำ(เพื่อกล่าว)ในท่ามกลางบริษัท อธิบายว่า
คนผู้ประกอบ คือ เตรียมตัว ตระเตรียม รวบรวม เรียบเรียง ถ้อยคำของตนเพื่อ
กล่าวในท่ามกลางขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คหบดีบริษัท หรือสมณบริษัท
รวมความว่า คนผู้ประกอบถ้อยคำ(เพื่อกล่าว)ในท่ามกลางบริษัท
คำว่า เมื่ออยากได้ความสรรเสริญ ในคำว่า เมื่ออยากได้ความสรรเสริญ
ย่อมเป็นผู้ลังเลใจ อธิบายว่า เมื่ออยากได้ คือ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวัง
ความสรรเสริญ คือ ความชมเชย ความมีเกียรติ ความยกย่องคุณความดี
คำว่า ย่อมเป็นผู้ลังเลใจ อธิบายว่า ก่อนตอบโต้ ย่อมสงสัย ลังเลใจ คือ
ก่อนตอบโต้ ย่อมสงสัย ลังเลใจ อย่างนี้ว่า "เราจักมีชัย หรือปราชัยหนอ จักข่มเขา
อย่างไร จักทำลัทธิของเราให้เลิศลอยได้อย่างไร จักทำให้พิเศษได้อย่างไร จักทำให้
พิเศษยิ่งขึ้นไปได้อย่างไร จักทำการผูกมัดได้อย่างไร จักทำความผ่อนคลายได้อย่างไร
จักทำความตัดรอนได้อย่างไร จักตีขนาบวาทะเขาได้อย่างไร" รวมความว่า เมื่อ
อยากได้ความสรรเสริญ ย่อมเป็นผู้ลังเลใจ
คำว่า เป็นผู้เก้อเขิน ในเมื่อถูกค้านตกไป อธิบายว่า บริษัท สมาชิกของ
บริษัท ผู้พิจารณาปัญหา เป็นผู้มีเหตุผล ย่อมคัดค้านให้ตกไป คือ คัดค้านให้ตกไป
โดยอรรถว่า "คำที่ท่านพูดไร้ความหมาย" คัดค้านให้ตกไปโดยพยัญชนะว่า "สิ่งที่
ท่านพูดแล้วไม่ถูกต้องโดยพยัญชนะ" คัดค้านให้ตกไปทั้งโดยอรรถและพยัญชนะว่า
"สิ่งที่ท่านพูดแล้วไม่ถูกต้องทั้งโดยอรรถและพยัญชนะ" คัดค้านให้ตกไปว่า "อรรถที่
ท่านนำมาไม่ถูกต้อง พยัญชนะที่ท่านยกขึ้นมาไม่ถูกต้อง ทั้งอรรถและพยัญชนะที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :199 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 8. ปสูรสุตตนิทเทส
ท่านนำมาและยกขึ้นมาไม่ถูกต้อง ความข่มผู้อื่นท่านยังมิได้ทำ การทำลัทธิให้เลิศ
ลอยท่านยังทำไม่ดี ความพิเศษท่านยังมิได้ทำ การทำให้พิเศษยิ่งขึ้นท่านยังทำไม่ดี
ความผูกมัด ท่านยังมิได้ทำ ความผ่อนคลายท่านยังทำไม่ถูกต้อง ความตัดรอนท่าน
ยังมิได้ทำ การขนาบวาทะท่านทำไม่ถูกต้อง ท่านพูดไม่ถูกต้อง กล่าวไม่ถูกต้อง
เจรจาไม่ถูกต้อง เปล่งวาจาผิด กล่าวให้คลาดเคลื่อน พูดชั่ว"
คำว่า เป็นผู้เก้อเขิน ในเมื่อถูกค้านตกไป อธิบายว่า เมื่อถูกคัดค้านให้ตกไป
เป็นผู้เก้อเขิน คือ ถูกบีบคั้น ถูกทำให้ละอาย ถูกทำให้กระวนกระวาย ถึงความ
ทุกข์ใจ รวมความว่า เป็นผู้เก้อเขิน ในเมื่อถูกค้านตกไป
คำว่า เพราะคำนินทา ในคำว่า ย่อมโกรธเคือง เพราะคำนินทา แสวงหา
ข้อแก้ตัว อธิบายว่า เพราะคำนินทา คือ คำครหา คำไม่ชมเชย คำไม่สรรเสริญคุณ
ความดี
คำว่า ย่อมโกรธเคือง ได้แก่ ย่อมโกรธเคือง คือ แค้นเคือง ขุ่นเคือง ได้แก่
ทำความโกรธเคือง ความขัดเคือง และความไม่พอใจให้ปรากฏ รวมความว่า
ย่อมโกรธเคือง เพราะคำนินทา
คำว่า แสวงหาข้อแก้ตัว ได้แก่ แสวงหาข้อแก้ตัว คือ แสวงหาข้อผิด
แสวงหาข้อพลั้งผิด แสวงหาข้อผิดพลาด แสวงหาข้อพลั้งเผลอ แสวงหาช่องทาง
รวมความว่า ย่อมโกรธเคือง เพราะคำนินทา แสวงหาข้อแก้ตัว ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
คนผู้ประกอบถ้อยคำ(เพื่อกล่าว)ในท่ามกลางบริษัท
เมื่ออยากได้ความสรรเสริญ ย่อมเป็นผู้ลังเลใจ
เป็นผู้เก้อเขิน ในเมื่อถูกค้านตกไป ย่อมโกรธเคือง
เพราะคำนินทา แสวงหาข้อแก้ตัว
[62] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บริษัทผู้พิจารณาปัญหากล่าววาทะของเขาว่า เลว
ถูกคัดค้านตกไปแล้ว เขาเสื่อมวาทะไปแล้ว
ย่อมคร่ำครวญ เศร้าโศก ทอดถอนใจว่า เขานำ(หน้า) เราไปแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :200 }