เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 8. ปสูรสุตตนิทเทส
คำว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นอาศัยสิ่งอื่นแล้ว ย่อมกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน
อธิบายว่า อาศัย คือ อิงอาศัย ติด ติดแน่น ติดใจ น้อมใจเชื่อศาสดา ธรรมที่ศาสดา
กล่าวสอน หมู่คณะ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรคอื่น
ความทะเลาะกัน ความบาดหมางกัน ความแก่งแย่งกัน ความวิวาทกัน
การมุ่งร้ายกัน ตรัสเรียกว่า ถ้อยคำที่ขัดแย้งกัน
อีกนัยหนึ่ง คำว่า ถ้อยคำขัดแยังกัน ได้แก่ ถ้อยคำที่ไม่นุ่มนวล อธิบายว่า
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมกล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงถ้อยคำขัดแย้งกัน
คือ คำทะเลาะกัน คำบาดหมางกัน คำแก่งแย่งกัน คำวิวาทกัน คำมุ่งร้ายกัน
รวมความว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นอาศัยสิ่งอื่นแล้ว ย่อมกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน
คำว่า อยากได้ความสรรเสริญ ในคำว่า อยากได้ความสรรเสริญ ก็กล่าว
ยกตนว่าเป็นผู้ฉลาด อธิบายว่า อยากได้ความสรรเสริญ คือ ต้องการความสรรเสริญ
ประสงค์ความสรรเสริญ มุ่งหมายความสรรเสริญ เที่ยวแสวงหาความสรรเสริญ
คำว่า ก็กล่าวยกตนว่า เป็นผู้ฉลาด ได้แก่ กล่าวยกตนว่าเป็นผู้ฉลาด คือ
กล่าวว่าเป็นบัณฑิต กล่าวว่าเป็นนักปราชญ์ กล่าวว่ามีญาณ กล่าวว่าสมเหตุผล
กล่าวว่ามีคุณลักษณะ กล่าวว่าเหมาะแก่เหตุ กล่าวว่าสมฐานะตามลัทธิของตน
รวมความว่า อยากได้ความสรรเสริญ ก็กล่าวยกตนว่า เป็นผู้ฉลาด ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นคนอยากพูด
เข้าไปสู่บริษัทแล้ว จับคู่ กล่าวหากันและกันว่า เป็นคนพาล
สมณพราหมณ์เหล่านั้นอาศัยสิ่งอื่นแล้ว
ย่อมกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน
อยากได้ความสรรเสริญ ก็กล่าวยกตนว่า เป็นผู้ฉลาด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :198 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 8. ปสูรสุตตนิทเทส
[61] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
คนผู้ประกอบถ้อยคำ(เพื่อกล่าว)ในท่ามกลางบริษัท
เมื่ออยากได้ความสรรเสริญ ย่อมเป็นผู้ลังเลใจ
เป็นผู้เก้อเขิน ในเมื่อถูกค้านตกไป ย่อมโกรธเคือง
เพราะคำนินทา แสวงหาข้อแก้ตัว

ว่าด้วยแพ้วาทะแล้วขัดเคือง
คำว่า คนผู้ประกอบถ้อยคำ(เพื่อกล่าว)ในท่ามกลางบริษัท อธิบายว่า
คนผู้ประกอบ คือ เตรียมตัว ตระเตรียม รวบรวม เรียบเรียง ถ้อยคำของตนเพื่อ
กล่าวในท่ามกลางขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คหบดีบริษัท หรือสมณบริษัท
รวมความว่า คนผู้ประกอบถ้อยคำ(เพื่อกล่าว)ในท่ามกลางบริษัท
คำว่า เมื่ออยากได้ความสรรเสริญ ในคำว่า เมื่ออยากได้ความสรรเสริญ
ย่อมเป็นผู้ลังเลใจ อธิบายว่า เมื่ออยากได้ คือ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวัง
ความสรรเสริญ คือ ความชมเชย ความมีเกียรติ ความยกย่องคุณความดี
คำว่า ย่อมเป็นผู้ลังเลใจ อธิบายว่า ก่อนตอบโต้ ย่อมสงสัย ลังเลใจ คือ
ก่อนตอบโต้ ย่อมสงสัย ลังเลใจ อย่างนี้ว่า "เราจักมีชัย หรือปราชัยหนอ จักข่มเขา
อย่างไร จักทำลัทธิของเราให้เลิศลอยได้อย่างไร จักทำให้พิเศษได้อย่างไร จักทำให้
พิเศษยิ่งขึ้นไปได้อย่างไร จักทำการผูกมัดได้อย่างไร จักทำความผ่อนคลายได้อย่างไร
จักทำความตัดรอนได้อย่างไร จักตีขนาบวาทะเขาได้อย่างไร" รวมความว่า เมื่อ
อยากได้ความสรรเสริญ ย่อมเป็นผู้ลังเลใจ
คำว่า เป็นผู้เก้อเขิน ในเมื่อถูกค้านตกไป อธิบายว่า บริษัท สมาชิกของ
บริษัท ผู้พิจารณาปัญหา เป็นผู้มีเหตุผล ย่อมคัดค้านให้ตกไป คือ คัดค้านให้ตกไป
โดยอรรถว่า "คำที่ท่านพูดไร้ความหมาย" คัดค้านให้ตกไปโดยพยัญชนะว่า "สิ่งที่
ท่านพูดแล้วไม่ถูกต้องโดยพยัญชนะ" คัดค้านให้ตกไปทั้งโดยอรรถและพยัญชนะว่า
"สิ่งที่ท่านพูดแล้วไม่ถูกต้องทั้งโดยอรรถและพยัญชนะ" คัดค้านให้ตกไปว่า "อรรถที่
ท่านนำมาไม่ถูกต้อง พยัญชนะที่ท่านยกขึ้นมาไม่ถูกต้อง ทั้งอรรถและพยัญชนะที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :199 }