เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 8. ปสูรสุตตนิทเทส
สมณพราหมณ์เป็นอันมาก
ย่อมกล่าวความหมดจดในธรรมนี้เท่านั้น
ไม่กล่าวความหมดจดในธรรมเหล่าอื่น
บุคคลอาศัยศาสดาใด ก็กล่าวศาสดานั้นว่าดีงาม
ในเพราะทิฏฐิของตนนั้น เป็นผู้ตั้งอยู่ในปัจเจกสัจจะ
[60] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นคนอยากพูด
เข้าไปสู่บริษัทแล้ว จับคู่ กล่าวหากันและกันว่า เป็นคนพาล
สมณพราหมณ์เหล่านั้นอาศัยสิ่งอื่นแล้ว
ย่อมกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน
อยากได้ความสรรเสริญ ก็กล่าวยกตนว่า เป็นผู้ฉลาด

ว่าด้วยการยกวาทะ
คำว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นคนอยากพูด ในคำว่า สมณพราหมณ์
เหล่านั้นเป็นคนอยากพูด เข้าไปสู่บริษัทแล้ว อธิบายว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น
เป็นคนอยากพูด คือ เป็นคนต้องการพูด ประสงค์จะพูด มุ่งหมายจะพูด เที่ยวแสวงหา
การพูด
คำว่า เข้าไปสู่บริษัทแล้ว ได้แก่ เข้าไปแล้ว คือ ก้าวลงแล้ว แทรกเข้าไปแล้ว
เข้าถึงแล้ว ซึ่งขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คหบดีบริษัท สมณบริษัท รวมความว่า
สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นคนอยากพูด เข้าไปสู่บริษัทแล้ว
คำว่า จับคู่ ในคำว่า จับคู่ กล่าวหากันและกันว่า เป็นคนพาล อธิบายว่า
คน 2 พวก คนก่อการทะเลาะกัน 2 ฝ่าย คนก่อการบาดหมางกัน 2 ฝ่าย
คนก่อการอื้อฉาวกัน 2 ฝ่าย คนก่อการวิวาทกัน 2 ฝ่าย คนก่ออธิกรณ์กัน 2 ฝ่าย
คนว่ากล่าวกัน 2 ฝ่าย คนโต้เถียงกัน 2 ฝ่าย คนเหล่านั้น กล่าวหา คือ เห็น
แลเห็น เพ่งพินิจ พิจารณาดูกันและกัน โดยความเป็นคนพาล คือ โดยความเป็น
คนเลว ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย รวมความว่า จับคู่ กล่าวหา
กันและกันว่า เป็นคนพาล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :197 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 8. ปสูรสุตตนิทเทส
คำว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นอาศัยสิ่งอื่นแล้ว ย่อมกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน
อธิบายว่า อาศัย คือ อิงอาศัย ติด ติดแน่น ติดใจ น้อมใจเชื่อศาสดา ธรรมที่ศาสดา
กล่าวสอน หมู่คณะ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรคอื่น
ความทะเลาะกัน ความบาดหมางกัน ความแก่งแย่งกัน ความวิวาทกัน
การมุ่งร้ายกัน ตรัสเรียกว่า ถ้อยคำที่ขัดแย้งกัน
อีกนัยหนึ่ง คำว่า ถ้อยคำขัดแยังกัน ได้แก่ ถ้อยคำที่ไม่นุ่มนวล อธิบายว่า
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมกล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงถ้อยคำขัดแย้งกัน
คือ คำทะเลาะกัน คำบาดหมางกัน คำแก่งแย่งกัน คำวิวาทกัน คำมุ่งร้ายกัน
รวมความว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นอาศัยสิ่งอื่นแล้ว ย่อมกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน
คำว่า อยากได้ความสรรเสริญ ในคำว่า อยากได้ความสรรเสริญ ก็กล่าว
ยกตนว่าเป็นผู้ฉลาด อธิบายว่า อยากได้ความสรรเสริญ คือ ต้องการความสรรเสริญ
ประสงค์ความสรรเสริญ มุ่งหมายความสรรเสริญ เที่ยวแสวงหาความสรรเสริญ
คำว่า ก็กล่าวยกตนว่า เป็นผู้ฉลาด ได้แก่ กล่าวยกตนว่าเป็นผู้ฉลาด คือ
กล่าวว่าเป็นบัณฑิต กล่าวว่าเป็นนักปราชญ์ กล่าวว่ามีญาณ กล่าวว่าสมเหตุผล
กล่าวว่ามีคุณลักษณะ กล่าวว่าเหมาะแก่เหตุ กล่าวว่าสมฐานะตามลัทธิของตน
รวมความว่า อยากได้ความสรรเสริญ ก็กล่าวยกตนว่า เป็นผู้ฉลาด ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นคนอยากพูด
เข้าไปสู่บริษัทแล้ว จับคู่ กล่าวหากันและกันว่า เป็นคนพาล
สมณพราหมณ์เหล่านั้นอาศัยสิ่งอื่นแล้ว
ย่อมกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน
อยากได้ความสรรเสริญ ก็กล่าวยกตนว่า เป็นผู้ฉลาด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :198 }