เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
คำว่า ผู้ว่าง ในคำว่า มุนีผู้ว่าง ประพฤติอยู่ อธิบายว่า ผู้ว่าง คือ สงัด
เงียบ ได้แก่ ผู้ว่าง คือ สงัด เงียบจากกายทุจริต ... วจีทุจริต ... มโนทุจริต ... ราคะ ..
โทสะ ... โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ... มัจฉริยะ ...
มายา ... สาเถยยะ ... ถัมภะ ... สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ...มทะ ... ปมาทะ ...
กิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อน
ทุกสถาน ... ความเดือดร้อนทุกประการ ผู้ว่าง คือ สงัด เงียบจากอกุสลาภิสังขาร
ทุกประเภท1
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ...
ผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี2
คำว่า ประพฤติอยู่ ได้แก่ ประพฤติอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า มุนีผู้ว่าง ประพฤติอยู่
คำว่า ไม่มุ่งหวังกามทั้งหลาย อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้แก่ กาม 2 อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (1) วัตถุกาม
(2) กิเลสกาม ... เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ... เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม3
มุนีกำหนดรู้วัตถุกาม ละ คือ ละเว้น บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่
มีอีกซึ่งกิเลสกาม ไม่มุ่งหวังในกามทั้งหลาย คือ เป็นผู้สละกามแล้ว คายกามแล้ว
ปล่อยกามแล้ว ละกามแล้ว สลัดทิ้งกามแล้ว ได้แก่ เป็นผู้คลายความกำหนัดแล้ว
สละราคะแล้ว คายราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว ละราคะแล้ว สลัดทิ้งราคะแล้ว เป็นผู้
หมดความอยากแล้ว ดับแล้ว เย็นแล้ว มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ รวมความว่า
ไม่มุ่งหวังกามทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
1 ดูคำแปลจากข้อ 5/17
2 ดูรายละเอียดข้อ 14/68-71
3ดูรายละเอียดข้อ 1/1-2

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :193 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเสท
คำว่า หมู่สัตว์ ในคำว่า หมู่สัตว์ผู้ติดใจในกามทั้งหลาย ย่อมยินดี ...
ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว เป็นชื่อเรียกสัตว์ หมู่สัตว์ผู้กำหนัด ยินดี ติดใจ คือ สยบ
หมกมุ่น เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันในกามทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้น ย่อมต้องการ
ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวัง มุนีผู้ข้าม คือ ผู้ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง
ก้าวพ้น ล่วงพ้นซึ่งกาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ ทางแห่งสงสารทั้งปวง
ได้แล้ว ถึงฝั่ง บรรลุฝั่ง ถึงที่สุด บรรลุที่สุด ถึงส่วนสุด บรรลุส่วนสุด ถึงท้ายสุด
บรรลุท้ายสุด ถึงที่ปกป้อง บรรลุที่ปกป้อง ถึงที่ป้องกัน บรรลุที่ป้องกัน ถึงที่
หลีกเร้น บรรลุที่หลีกเร้น ถึงที่พึ่ง บรรลุที่พึ่ง ถึงที่ไม่มีภัย บรรลุที่ไม่มีภัย
ถึงที่ไม่จุติ บรรลุที่ไม่จุติ ถึงอมตธรรม บรรลุอมตธรรม ถึงนิพพาน บรรลุนิพพาน
เปรียบเหมือนพวกลูกหนี้ ย่อมปรารถนา ยินดี ความเป็นผู้หมดหนี้ ฉันใด พวกที่
ป่วยไข้ ย่อมปรารถนา ยินดี ความเป็นผู้หายโรค ฉันใด พวกที่ติดอยู่ในเรือนจำ
ย่อมปรารถนา ยินดี ความพ้นจากเรือนจำ ฉันใด พวกทาส ย่อมปรารถนา ยินดี
ความเป็นไท ฉันใด พวกคนเดินทางกันดาร ย่อมปรารถนา ยินดี ภาคพื้นที่เกษม
ฉันใด หมู่สัตว์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้กำหนัด ยินดี ติดใจ คือ สยบ หมกมุ่น
เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันในกามทั้งหลาย หมู่สัตว์เหล่านั้น ย่อมต้องการ ยินดี
ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวัง มุนีผู้ข้าม คือ ผู้ข้ามขึ้น ข้ามพ้นกาโมฆะ ... ภโวฆะ
... ถึงนิพพาน บรรลุนิพพาน รวมความว่า หมู่สัตว์ผู้ติดใจในกามทั้งหลาย
ย่อมยินดี ... ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
หมู่สัตว์ผู้ติดใจในกามทั้งหลาย ย่อมยินดีมุนีผู้ว่าง
ประพฤติอยู่ ไม่มุ่งหวังกามทั้งหลาย ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว
ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทสที่ 7 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :194 }