เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
คำว่า ในธรรมวินัยนี้ ได้แก่ ในทิฏฐินี้ ในความถูกใจนี้ ความพอใจนี้ ความ
ยึดถือนี้ ธรรมนี้ วินัยนี้ ธรรมวินัยนี้ ปาพจน์นี้ พรหมจรรย์นี้ สัตถุศาสน์นี้
อัตภาพนี้ มนุษยโลกนี้ รวมความว่า มุนีรู้โทษนี้แล้ว ในคราวเป็นคฤหัสถ์ก่อนบวช
ในธรรมวินัยนี้
คำว่า พึงทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นคง อธิบายว่า พึงทำการเที่ยวไปผู้เดียว
ให้มั่นคงด้วยเหตุ 2 อย่าง คือ
1. ด้วยการบวช 2. ด้วยการละความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
มุนีพึงทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นคงด้วยการบวช เป็นอย่างไร
คือ มุนีตัดความกังวลเรื่องการครองเรือน ตัดความกังวลเรื่องบุตรภรรยา
ตัดความกังวลเรื่องญาติ ตัดความกังวลเรื่องมิตรและอำมาตย์ ตัดความกังวลเรื่อง
การสะสมทั้งหมด โกนผมและหนวดแล้ว นุ่งห่มผ้ากาสาวะ ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิต เข้าถึงความไม่กังวลแล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป
เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปผู้เดียว มุนี ชื่อว่าพึงทำการเที่ยวไปผู้เดียว
ให้มั่นคงด้วยการบวช เป็นอย่างนี้
มุนีพึงทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นคงด้วยการละความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
เป็นอย่างไร
คือ มุนีนั้น เมื่อเป็นนักบวชแล้วอย่างนี้ผู้เดียว พึงใช้สอยเสนาสนะที่เป็น
ป่าละเมาะและป่าทึบอันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจร
ไปมาของผู้คน ควรเป็นสถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น เธอเดิน
รูปเดียว ยืนรูปเดียว นั่งรูปเดียว นอนรูปเดียว เข้าหมู่บ้านเพื่อบิณฑบาตรูปเดียว
กลับมารูปเดียว นั่งในที่ลับรูปเดียว อธิษฐานจงกรมรูปเดียว พึงเที่ยวไปผู้เดียว คือ อยู่
เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปผู้เดียว มุนี ชื่อว่าพึง
ทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นคงด้วยการละความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เป็นอย่างนี้
คำว่า พึงทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นคง ได้แก่ พึงทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้
มั่นคง คือ พึงทำให้ยั่งยืน มีการสมาทานมั่นคง มีการสมาทานไม่คลอนแคลนใน
กุศลธรรมทั้งหลาย รวมความว่า พึงทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นคง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :190 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่พึงเข้าไปเสพเมถุนธรรม อธิบายว่า ธรรมเนียมของอสัตบุรุษ คือ
ธรรมเนียมของชาวบ้าน ... ชื่อว่าเมถุนธรรม เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า
เมถุนธรรม1 มุนี ไม่พึงเสพ คือ ไม่พึงเสพเป็นนิจ ไม่พึงซ่องเสพ ไม่พึงเสพเฉพาะ
ไม่พึงประพฤติ ไม่พึงประพฤติโดยเอื้อเฟื้อ ไม่พึงสมาทานประพฤติซึ่งเมถุนธรรม
รวมความว่า ไม่พึงเข้าไปเสพเมถุนธรรม ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
มุนีรู้โทษนี้แล้ว ในคราวเป็นคฤหัสถ์ก่อนบวชในธรรมวินัยนี้
พึงทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นคง ไม่พึงเข้าไปเสพเมถุนธรรม
[57] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุคคลพึงศึกษาวิเวกนั่นแหละ เพราะการประพฤติวิเวกนี้
เป็นกิจสูงสุดของพระอริยะทั้งหลาย
ไม่พึงสำคัญตนว่า เราเป็นผู้ประเสริฐสุดด้วยการประพฤติวิเวกนั้น
ผู้นั้นแล ชื่อว่าอยู่ใกล้นิพพาน
คำว่า วิเวก ในคำว่า พึงศึกษาวิเวกนั่นแหละ ได้แก่ วิเวก 3 อย่าง คือ
1. กายวิเวก 2. จิตตวิเวก
3. อุปธิวิเวก
กายวิเวก เป็นอย่างไร ... นี้ชื่อว่าอุปธิวิเวก2
กายวิเวก ย่อมมีแก่บุคคลผู้มีกายหลีกออกแล้ว ยินดียิ่งในเนกขัมมะ จิตตวิเวก
ย่อมมีแก่บุคคลผู้มีจิตบริสุทธิ์ ถึงความเป็นผู้ผ่องแผ้วยิ่ง และอุปธิวิเวกย่อมมีแก่
บุคคลผู้ปราศจากอุปธิ บรรลุนิพพานอันปราศจากปัจจัยปรุงแต่ง
คำว่า ศึกษา ได้แก่ สิกขา 3 คือ
1. อธิสีลสิกขา 2. อธิจิตตสิกขา
3. อธิปัญญาสิกขา ... นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 50/172
2 ดูรายละเอียดข้อ 7/32-34

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :191 }