เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 1. กามสุตตนิทเทส
ภิกษุผู้อยู่กับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ภายใน ผู้อยู่กับกิเลสที่ฟุ้งขึ้น ย่อมอยู่เป็นทุกข์
ไม่สบาย เป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย มีความดำริซ่านไป
เกื้อกูลแก่สังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะตาเห็นรูป บาปอกุศล
ธรรมทั้งหลาย ย่อมอยู่ ย่อมซ่านไปภายในของภิกษุนั้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียก
ภิกษุนั้นว่า 'ผู้อยู่กับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ภายใน' บาปอกุศลธรรมเหล่านั้น ย่อม
ฟุ้งขึ้นท่วมภิกษุนั้น เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสเรียกภิกษุนั้นว่า 'ผู้อยู่กับกิเลส
ที่ฟุ้งขึ้น'
ภิกษุทั้งหลาย อีกนัยหนึ่ง บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย มีความดำริซ่านไป
เกื้อกูลแก่สังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุ เพราะหูได้ยินเสียง ... เพราะจมูกได้กลิ่น ...
เพราะลิ้นลิ้มรส ... เพราะกายได้รับสัมผัส ... เพราะใจรู้ธรรมารมณ์ บาปอกุศล
ธรรมทั้งหลาย ย่อมอยู่ ย่อมซ่านไปภายในของภิกษุนั้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียกภิกษุ
นั้นว่า 'ผู้อยู่กับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ภายใน' บาปอกุศลธรรมเหล่านั้น ย่อมฟุ้งขึ้น
ท่วมภิกษุนั้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียกภิกษุนั้นว่า 'ผู้อยู่กับกิเลสที่ฟุ้งขึ้น' ภิกษุ
ทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุผู้อยู่กับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ภายใน ผู้อยู่กับกิเลสที่ฟุ้งขึ้น
ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สบาย"1 ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่อาศัยอยู่ใน
อัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง

ว่าด้วยธรรม 3 ประการ เป็นมลทินภายใน
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า "ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 3 ประการเหล่านี้
เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็นเพชฌฆาตภายใน เป็น
ข้าศึกภายใน ธรรม 3 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. โลภะ เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็น
เพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน
2. โทสะ เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็น
เพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน
3. โมหะ เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็น
เพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน

เชิงอรรถ :
1 สํ.สฬา. 18/151/126-128

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :19 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 1. กามสุตตนิทเทส
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 3 ประการเหล่านี้แล ชื่อว่าเป็นมลทินภายใน เป็นอมิตร
ภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็นเพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน"1
(พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า)
โลภะก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
โลภะทำให้จิตกำเริบ โลภะเป็นภัยที่เกิดภายใน
คน (ส่วนมาก)ไม่รู้จักภัยนั้น
คนโลภไม่รู้จักผล คนโลภไม่รู้จักเหตุ
ความโลภครอบงำนรชนเมื่อใด
ความมืดบอดย่อมมีเมื่อนั้น
โทสะก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
โทสะทำให้จิตกำเริบ โทสะเป็นภัยที่เกิดภายใน
คน (ส่วนมาก)ไม่รู้จักภัยนั้น
คนโกรธไม่รู้จักผล คนโกรธไม่รู้จักเหตุ
ความโกรธครอบงำนรชนเมื่อใด
ความมืดบอดย่อมมีเมื่อนั้น
โมหะก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
โมหะทำให้จิตกำเริบ โมหะเป็นภัยที่เกิดภายใน
คน (ส่วนมาก)ไม่รู้จักภัยนั้น
คนหลงไม่รู้จักผล คนหลงไม่รู้จักเหตุ
ความหลงครอบงำนรชนเมื่อใด
ความมืดบอดย่อมมีเมื่อนั้น2
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่นอนเนื่องอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง

เชิงอรรถ :
1 สํ.ส. 15/113/84-85
2 ขุ.อิติ. 25/88/305, ขุ.จู. 30/128/263-264

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :20 }