เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
ภิกษุนั้น ถูกความดำริครอบงำ
ย่อมซบเซาเหมือนคนกำพร้า
ครั้นได้ยินคำตำหนิของคนอื่นแล้ว
ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน เป็นผู้เช่นนั้น
[54] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ลำดับนั้น ภิกษุนั้นถูกถ้อยคำของคนอื่นตักเตือนแล้ว
ย่อมสร้างศัสตรา เธอย่อมก้าวลงสู่ความเป็นคนพูดเท็จ
นี้แหละเป็นเครื่องทำให้ติดใหญ่ของเธอ
คำว่า ลำดับนั้น ในคำว่า ลำดับนั้น ภิกษุนั้นถูกถ้อยคำของคนอื่นตักเตือน
แล้ว ย่อมสร้างศัสตรา เป็นบทสนธิ เป็นคำเชื่อมบท เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์
เป็นความสัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความสละสลวยแห่งพยัญชนะ คำว่า ลำดับนั้น นี้
เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน

ว่าด้วยศัสตรา 3 อย่าง
คำว่า ศัสตรา ได้แก่ ศัสตรา 3 อย่าง คือ (1) ศัสตราทางกาย (2) ศัสตรา
ทางวาจา (3) ศัสตราทางใจ กายทุจริต 3 อย่าง ชื่อว่าศัสตราทางกาย
วจีทุจริต 4 อย่าง ชื่อว่าศัสตราทางวาจา มโนทุจริต 3 อย่าง ชื่อว่าศัสตราทางใจ
คำว่า ถูกถ้อยคำของคนอื่นตักเตือนแล้ว อธิบายว่า ถูกอุปัชฌาย์ อาจารย์
ผู้ร่วมอุปัชฌาย์ ผู้ร่วมอาจารย์ มิตร เพื่อนเห็น เพื่อนคบ หรือสหายตักเตือน ก็พูด
เท็จทั้งรู้อยู่ คือ พูดว่า "ท่านผู้เจริญ กระผมยินดีในการบวชอยู่แล้ว แต่กระผมต้อง
เลี้ยงดูมารดา เพราะเหตุนั้น กระผมจึงสึก" พูดว่า "กระผมต้องเลี้ยงดูบิดา ... ต้อง
เลี้ยงดูพี่ชายน้องชาย ... ต้องเลี้ยงดูพี่สาวน้องสาว ... ต้องเลี้ยงดูบุตร ... ต้องเลี้ยงดู
ธิดา ... ต้องเลี้ยงดูมิตร ... ต้องเลี้ยงดูอำมาตย์ ... ต้องเลี้ยงดูญาติ" พูดว่า "กระผม
ต้องเลี้ยงดูผู้ร่วมสายโลหิต ด้วยเหตุนั้น กระผมจึงสึก" ย่อมสร้าง คือ สร้างขึ้น
ให้เกิด ให้เกิดขึ้น ให้บังเกิด ให้บังเกิดขึ้นซึ่งศัสตราทางวาจาดังว่ามานี้ รวมความว่า
ลำดับนั้น ภิกษุนั้นถูกถ้อยคำของคนอื่นตักเตือนแล้ว ย่อมสร้างศัสตรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :184 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
คำว่า นี้แหละเป็นเครื่องทำให้ติดใหญ่ของเธอ อธิบายว่า การกล่าวเท็จ
ทั้งที่รู้อยู่เป็นเครื่องทำให้ติดใหญ่ คือ เป็นป่าใหญ่ เป็นดงใหญ่ เป็นทางกันดารใหญ่
เป็นดุจทางขรุขระมาก เป็นทางคดมาก เป็นดุจหล่มใหญ่ เป็นดุจบ่อใหญ่ เป็นความ
กังวลมากมาย เป็นเครื่องผูกพันใหญ่ของเธอ รวมความว่า นี้แหละเป็นเครื่องทำให้
ติดใหญ่ของเธอ

ว่าด้วยมุสาวาท
คำว่า ย่อมก้าวลงสู่ความเป็นคนพูดเท็จ อธิบายว่า มุสาวาท ตรัสเรียกว่า
ความเป็นคนพูดเท็จ คนบางคนในโลกนี้ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลาง
หมู่ญาติ อยู่ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขาอ้างเป็นพยาน
ซักถามว่า "ท่านรู้สิ่งใด จงกล่าวสิ่งนั้น" บุคคลนั้นไม่รู้ก็พูดว่า "รู้" หรือรู้ก็พูดว่า
"ไม่รู้" ไม่เห็นก็พูดว่า "เห็น" หรือเห็นก็พูดว่า "ไม่เห็น" เขาพูดเท็จทั้งที่รู้เพราะตน
เป็นเหตุบ้าง เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง เพราะเหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง
ด้วยประการฉะนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความเป็นคนพูดเท็จ
อีกนัยหนึ่ง มุสาวาทมีได้ด้วยอาการ 3 อย่าง คือ
1. ก่อนพูดเธอก็รู้ว่า เราจักพูดเท็จ
2. กำลังพูดก็รู้ว่า เรากำลังพูดเท็จ
3. พูดแล้วก็รู้ว่า เราพูดเท็จแล้ว
มุสาวาทมีได้ด้วยอาการ 3 อย่างเหล่านี้
อีกนัยหนึ่ง มุสาวาทมีได้ด้วยอาการ 4 อย่าง ... ด้วยอาการ 5 อย่าง ...
ด้วยอาการ 6 อย่าง ... ด้วยอาการ 7 อย่าง ...
มุสาวาทมีได้ด้วยอาการ 8 อย่าง คือ
1. ก่อนพูดเธอก็รู้อยู่ว่า เราจักพูดเท็จ
2. กำลังพูดก็รู้ว่า เรากำลังพูดเท็จ
3. พูดแล้วก็รู้ว่า เราพูดเท็จแล้ว
4. ปิดบังทิฏฐิ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :185 }