เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
ว่าด้วยข้อเสียของภิกษุ
คำว่า ภิกษุนั้นถูกความดำริครอบงำ ย่อมซบเซาเหมือนคนกำพร้า อธิบาย
ว่า ภิกษุนั้น ถูกความดำริในกาม ความดำริในพยาบาท ความดำริในความ
เบียดเบียนกัน ความดำริตามทิฏฐิ กระทบ ครอบงำ คือ กลุ้มรุม ประกอบ ตบแต่ง
ย่อมซบเซา คือ หงอยเหงา เซื่องซึม ซึมเศร้า เหมือนคนกำพร้า คนโง่ คนลุ่มหลง
นกฮูกจ้องจับหนูอยู่ที่กิ่งไม้ ย่อมซบเซา หงอยเหงา เซื่องซึม ซึมเศร้า ฉันใด สุนัข
จิ้งจอกคอยจ้องจับปลาอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ ย่อมซบเซา หงอยเหงา เซื่องซึม ซึมเศร้า
ฉันใด แมวคอยจ้องจับหนูอยู่ตามรอยต่อ ที่ท่อน้ำ และที่ฝั่งน้ำมีเปือกตม ย่อม
ซบเซา หงอยเหงา เซื่องซึม ซึมเศร้า ฉันใด ลาหลังเป็นแผล ย่อมซบเซา หงอยเหงา
เซื่องซึม ซึมเศร้า อยู่ตามรอยต่อ ที่ท่อน้ำ และที่ฝั่งมีเปือกตม ฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉัน
นั้นเหมือนกัน เมื่อสึกแล้วถูกความดำริในกาม ความดำริในพยาบาท ความดำริใน
ความเบียดเบียนกัน ความดำริตามทิฏฐิ กระทบ ครอบงำ คือ กลุ้มรุม ประกอบ
ตบแต่ง ย่อมซบเซา คือ หงอยเหงา เซื่องซึม ซึมเศร้า เหมือนคนกำพร้า คนโง่
คนลุ่มหลง รวมความว่า ภิกษุนั้นถูกความดำริครอบงำ ย่อมซบเซาเหมือนคนกำพร้า
คำว่า ของคนอื่น ในคำว่า ครั้นได้ยินเสียงตำหนิของคนอื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้
เก้อเขิน เป็นผู้เช่นนั้น อธิบายว่า อุปัชฌาย์ อาจารย์ ผู้ร่วมอุปัชฌาย์ ผู้ร่วม
อาจารย์ มิตร เพื่อนเห็น เพื่อนคบ หรือสหาย ตำหนิว่า "ผู้มีอายุ ไม่ใช่ลาภของ
ท่านเลย ท่านเอาดีได้ยาก ที่ได้ศาสดาสูงส่งเห็นปานนี้ บวชในธรรมวินัยที่พระ
ศาสดาตรัสไว้ดีแล้วอย่างนี้ ได้หมู่คณะที่ประเสริฐอย่างนี้ เพราะเหตุแห่งเมถุนธรรม
อันเลว ก็บอกลาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ สิกขา กลับมาเป็นคฤหัสถ์ ท่าน
ไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ไม่มีหิริในกุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม ไม่มีวิริยะ
ในกุศลธรรม ไม่มีสติในกุศลธรรม ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม" เธอ ครั้นได้ยิน คือ
ได้ฟัง สำเหนียก พิจารณา กำหนดซึ่งคำ คือ คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำสั่งสอน
คำพร่ำสอน ของคนเหล่านั้นแล้ว ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน คือ ขวยเขิน อึดอัด กระดากใจ
เสียใจ
คำว่า เป็นผู้เช่นนั้น ได้แก่ ภิกษุนั้น เมื่อสึกแล้วเป็นผู้เช่นนั้น คือเป็นผู้อย่างนั้น
ผู้ดำรงอย่างนั้น ผู้เป็นประการนั้น ผู้มีส่วนอย่างนั้น รวมความว่า ครั้นได้ยินคำ
ตำหนิของคนอื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน เป็นผู้เช่นนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :183 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
ภิกษุนั้น ถูกความดำริครอบงำ
ย่อมซบเซาเหมือนคนกำพร้า
ครั้นได้ยินคำตำหนิของคนอื่นแล้ว
ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน เป็นผู้เช่นนั้น
[54] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ลำดับนั้น ภิกษุนั้นถูกถ้อยคำของคนอื่นตักเตือนแล้ว
ย่อมสร้างศัสตรา เธอย่อมก้าวลงสู่ความเป็นคนพูดเท็จ
นี้แหละเป็นเครื่องทำให้ติดใหญ่ของเธอ
คำว่า ลำดับนั้น ในคำว่า ลำดับนั้น ภิกษุนั้นถูกถ้อยคำของคนอื่นตักเตือน
แล้ว ย่อมสร้างศัสตรา เป็นบทสนธิ เป็นคำเชื่อมบท เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์
เป็นความสัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความสละสลวยแห่งพยัญชนะ คำว่า ลำดับนั้น นี้
เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน

ว่าด้วยศัสตรา 3 อย่าง
คำว่า ศัสตรา ได้แก่ ศัสตรา 3 อย่าง คือ (1) ศัสตราทางกาย (2) ศัสตรา
ทางวาจา (3) ศัสตราทางใจ กายทุจริต 3 อย่าง ชื่อว่าศัสตราทางกาย
วจีทุจริต 4 อย่าง ชื่อว่าศัสตราทางวาจา มโนทุจริต 3 อย่าง ชื่อว่าศัสตราทางใจ
คำว่า ถูกถ้อยคำของคนอื่นตักเตือนแล้ว อธิบายว่า ถูกอุปัชฌาย์ อาจารย์
ผู้ร่วมอุปัชฌาย์ ผู้ร่วมอาจารย์ มิตร เพื่อนเห็น เพื่อนคบ หรือสหายตักเตือน ก็พูด
เท็จทั้งรู้อยู่ คือ พูดว่า "ท่านผู้เจริญ กระผมยินดีในการบวชอยู่แล้ว แต่กระผมต้อง
เลี้ยงดูมารดา เพราะเหตุนั้น กระผมจึงสึก" พูดว่า "กระผมต้องเลี้ยงดูบิดา ... ต้อง
เลี้ยงดูพี่ชายน้องชาย ... ต้องเลี้ยงดูพี่สาวน้องสาว ... ต้องเลี้ยงดูบุตร ... ต้องเลี้ยงดู
ธิดา ... ต้องเลี้ยงดูมิตร ... ต้องเลี้ยงดูอำมาตย์ ... ต้องเลี้ยงดูญาติ" พูดว่า "กระผม
ต้องเลี้ยงดูผู้ร่วมสายโลหิต ด้วยเหตุนั้น กระผมจึงสึก" ย่อมสร้าง คือ สร้างขึ้น
ให้เกิด ให้เกิดขึ้น ให้บังเกิด ให้บังเกิดขึ้นซึ่งศัสตราทางวาจาดังว่ามานี้ รวมความว่า
ลำดับนั้น ภิกษุนั้นถูกถ้อยคำของคนอื่นตักเตือนแล้ว ย่อมสร้างศัสตรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :184 }