เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
คำว่า เห็นแล้ว ได้แก่ แลเห็นแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้
กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว รวมความว่า เห็นสมบัติและวิบัตินี้แล้ว

ว่าด้วยสิกขา 3
คำว่า พึงศึกษา ได้แก่ สิกขา 3 คือ (1) อธิสีลสิกขา (2) อธิจิตตสิกขา
(3) อธิปัญญาสิกขา
อธิสีลสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ สมบูรณ์
ด้วยอาจาระและโคจร เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบท
ทั้งหลายอยู่ คือ สีลขันธ์เล็ก1 สีลขันธ์ใหญ่2 ศีลเป็นที่พึ่ง เป็นเบื้องต้น เป็นความ
ประพฤติ เป็นความสำรวม เป็นความระวัง เป็นหัวหน้า เป็นประธานเพื่อความถึง
พร้อมแห่งธรรมที่เป็นกุศล นี้ชื่อว่าอธิสีลสิกขา
อธิจิตตสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน
ที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุข อันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจาร สงบระงับไปแล้ว
บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มี
วิจาร มีแต่ปีติและสุขที่เกิดจากสมาธิอยู่ ... บรรลุตติยฌาน ... บรรลุจตุตถฌานที่ไม่
มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ นี้ชื่อว่าอธิจิตตสิกขา
อธิปัญญาสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาอันประเสริฐ
หยั่งถึงความเกิดและความดับ เพิกถอนกิเลส ให้บรรลุถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า "นี้ทุกข์" เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า "นี้ทุกขสมุทัย" เธอรู้

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถข้อ 10/48
2 ดูเชิงอรรถข้อ 10/48

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :181 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
ตามความเป็นจริงว่า "นี้ทุกขนิโรธ" เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า "นี้ทุกขนิโรธ-
คามินีปฏิปทา" เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า "เหล่านี้อาสวะ" เธอรู้ตามความเป็น
จริงว่า "นี้อาสวสมุทัย" เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า "นี้อาสวนิโรธ" เธอรู้ตามความ
เป็นจริงว่า "นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา" นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา
คำว่า เมถุนธรรม อธิบายว่า ธรรมเนียมของอสัตบุรุษ ... ชื่อว่าเมถุนธรรม
เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า เมถุนธรรม1
คำว่า ภิกษุเห็นสมบัติและวิบัตินี้แล้ว พึงศึกษาเพื่อละเมถุนธรรม อธิบาย
ว่า ภิกษุพึงศึกษาอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา เพื่อละ คือ เพื่อสงบ
สลัดทิ้ง ระงับเมถุนธรรม
สิกขา 3 เหล่านี้ เมื่อภิกษุนึกถึง ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทราบ ชื่อว่าพึงศึกษา
เมื่อเห็น ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อพิจารณา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่ออธิษฐานจิต ชื่อว่าพึงศึกษา
เมื่อน้อมใจเชื่อด้วยศรัทธา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อประคองความเพียร ชื่อว่าพึงศึกษา
เมื่อตั้งสติ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อตั้งใจมั่น ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญา ชื่อว่า
พึงศึกษา เมื่อรู้ชัดธรรมที่ควรรู้ชัด ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้
ชื่อว่า พึงศึกษา เมื่อละธรรมที่ควรละ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อเจริญธรรมที่ควรเจริญ
ชื่อว่า พึงศึกษา เมื่อทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่าพึงศึกษา คือ พึงประพฤติ
เอื้อเฟื้อ ประพฤติเอื้อเฟื้อโดยชอบ สมาทานประพฤติ รวมความว่า ภิกษุเห็นสมบัติ
และวิบัตินี้แล้ว พึงศึกษาเพื่อละเมถุนธรรม ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ยศและเกียรติในเบื้องต้นของภิกษุนั้นเสื่อมไป
ภิกษุเห็นสมบัติและวิบัตินี้แล้ว พึงศึกษาเพื่อละเมถุนธรรม
[53] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุนั้น ถูกความดำริครอบงำ
ย่อมซบเซาเหมือนคนกำพร้า
ครั้นได้ยินคำตำหนิของคนอื่นแล้ว
ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน เป็นผู้เช่นนั้น

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 49/168

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :182 }