เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 1. กามสุตตนิทเทส
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะครอบงำ เป็นอย่างไร
คือ อันตรายเหล่านั้นย่อมเข้าครอบครอง ยึดครอง ครอบงำ ท่วมทับ รัดรึง
ย่ำยีบุคคลนั้น ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะครอบงำ เป็นอย่างนี้
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นไปเพื่อความเสื่อม เป็นอย่างไร
คือ อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความสูญ เพื่อความเสื่อมไปแห่งกุศล
ธรรมทั้งหลาย กุศลธรรมอะไรบ้าง อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความสูญ
เพื่อความเสื่อมไปแห่งกุศลธรรมเหล่านี้ คือ การปฏิบัติชอบ การปฏิบัติเหมาะสม
การปฏิบัติที่ไม่เป็นข้าศึก การปฏิบัติไม่คลาดเคลื่อน การปฏิบัติที่เอื้อประโยชน์
การปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม การรักษาศีลให้บริบูรณ์ ความเป็นผู้สำรวม
อินทรีย์ทั้ง 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค
อาหาร ความเป็นผู้มีความเพียรเครื่องตื่นอยู่เสมอ สติสัมปชัญญะ ความหมั่นเจริญ
สติปัฏฐาน 4 ความหมั่นเจริญสัมมัปปธาน 4 ความหมั่นเจริญอิทธิบาท 4
ความหมั่นเจริญอินทรีย์ 5 ความหมั่นเจริญพละ 5 ความหมั่นเจริญโพชฌงค์ 7
ความหมั่นเจริญอริยมรรคมีองค์1 8 ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นไปเพื่อความเสื่อม
เป็นอย่างนี้
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่อาศัยอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรมเหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นในอัตภาพนั้น มีอัตภาพเป็นที่อาศัย
เปรียบเหมือนสัตว์ที่อาศัยรูย่อมอยู่ในรู สัตว์ที่อาศัยน้ำย่อมอยู่ในน้ำ สัตว์ที่อาศัยป่า
ย่อมอยู่ในป่า สัตว์ที่อาศัยต้นไม้ย่อมอยู่บนต้นไม้ ฉันใด บาปอกุศลธรรมเหล่านี้
ย่อมเกิดในอัตภาพนั้น มีอัตภาพเป็นที่อาศัย ฉันนั้นเหมือนกัน ที่ชื่อว่าอันตราย
เพราะเป็นอกุศลธรรมที่อาศัยอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า "ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่กับกิเลสที่
นอนเนื่องอยู่ภายใน ผู้อยู่กับกิเลสที่ฟุ้งขึ้น ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สบาย ภิกษุทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
1 อริยมรรคมีองค์ 8 คือ (1) สัมมาทิฏฐิ(เห็นชอบ) (2) สัมมาสังกัปปะ(ดำริชอบ) (3) สัมมาวาจา(เจรจา
ชอบ) (4) สัมมากัมมันตะ(กระทำชอบ) (5) สัมมาอาชีวะ(เลี้ยงชีพชอบ) (6) สัมมาวายามะ(พยายามชอบ)
(7) สัมมาสติ(ระลึกชอบ) (8) สัมมาสมาธิ(ตั้งสติมั่นชอบ) (ม.มู. 12/135/94-95)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :18 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 1. กามสุตตนิทเทส
ภิกษุผู้อยู่กับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ภายใน ผู้อยู่กับกิเลสที่ฟุ้งขึ้น ย่อมอยู่เป็นทุกข์
ไม่สบาย เป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย มีความดำริซ่านไป
เกื้อกูลแก่สังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะตาเห็นรูป บาปอกุศล
ธรรมทั้งหลาย ย่อมอยู่ ย่อมซ่านไปภายในของภิกษุนั้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียก
ภิกษุนั้นว่า 'ผู้อยู่กับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ภายใน' บาปอกุศลธรรมเหล่านั้น ย่อม
ฟุ้งขึ้นท่วมภิกษุนั้น เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสเรียกภิกษุนั้นว่า 'ผู้อยู่กับกิเลส
ที่ฟุ้งขึ้น'
ภิกษุทั้งหลาย อีกนัยหนึ่ง บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย มีความดำริซ่านไป
เกื้อกูลแก่สังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุ เพราะหูได้ยินเสียง ... เพราะจมูกได้กลิ่น ...
เพราะลิ้นลิ้มรส ... เพราะกายได้รับสัมผัส ... เพราะใจรู้ธรรมารมณ์ บาปอกุศล
ธรรมทั้งหลาย ย่อมอยู่ ย่อมซ่านไปภายในของภิกษุนั้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียกภิกษุ
นั้นว่า 'ผู้อยู่กับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ภายใน' บาปอกุศลธรรมเหล่านั้น ย่อมฟุ้งขึ้น
ท่วมภิกษุนั้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียกภิกษุนั้นว่า 'ผู้อยู่กับกิเลสที่ฟุ้งขึ้น' ภิกษุ
ทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุผู้อยู่กับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ภายใน ผู้อยู่กับกิเลสที่ฟุ้งขึ้น
ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สบาย"1 ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่อาศัยอยู่ใน
อัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง

ว่าด้วยธรรม 3 ประการ เป็นมลทินภายใน
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า "ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 3 ประการเหล่านี้
เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็นเพชฌฆาตภายใน เป็น
ข้าศึกภายใน ธรรม 3 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. โลภะ เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็น
เพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน
2. โทสะ เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็น
เพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน
3. โมหะ เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็น
เพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน

เชิงอรรถ :
1 สํ.สฬา. 18/151/126-128

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :19 }