เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ... มนุษยโลก1 รวมความว่า ผู้นั้น ... ในโลก
เหมือนยานที่แล่นไป ฉะนั้น
คำว่า ปุถุชน ในคำว่า ผู้รู้ทั้งหลายเรียก ... ว่า เป็นปุถุชนเลว อธิบายว่า
ชื่อว่าปุถุชน เพราะมีความหมายว่าอย่างไร ชื่อว่าปุถุชน เพราะให้กิเลสหยาบเกิดขึ้น
ชื่อว่าปุถุชน เพราะมีสักกายทิฏฐิอันหนาแน่นยังละไม่ได้ ชื่อว่าปุถุชน เพราะ
ปฏิญญาต่อหน้าศาสดาหลายองค์ ชื่อว่าปุถุชน เพราะถูกคติทุกอย่างร้อยรัดไว้มาก
ชื่อว่าปุถุชน เพราะปรุงแต่งอภิสังขารต่าง ๆ เป็นอันมาก ชื่อว่าปุถุชน เพราะถูก
โอฆะกิเลสต่าง ๆ เป็นอันมากพัดพาไป ชื่อว่าปุถุชน เพราะเดือดร้อนด้วยความ
เดือดร้อนต่าง ๆ เป็นอันมาก ชื่อว่าปุถุชน เพราะถูกความเร่าร้อนต่าง ๆ เป็นอันมาก
แผดเผา ชื่อว่าปุถุชน เพราะกำหนัด ยินดี ติดใจ หมกมุ่น เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพัน
ในกามคุณ 5 เป็นอันมาก ชื่อว่าปุถุชน เพราะถูกนิวรณ์ 5 อย่างเป็นอันมาก หุ้มห่อ
โอบล้อม ห้อมล้อม ครอบคลุม ปกคลุม บดบัง
คำว่า ผู้รู้ทั้งหลายเรียก ... ว่า เป็นปุถุชนเลว อธิบายว่า ผู้รู้ทั้งหลายเรียก
คือ พูด บอก แสดง ชี้แจง อย่างนี้ว่า เป็นปุถุชนเลว คือ ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ
หยาบช้า ต่ำต้อย รวมความว่า ผู้รู้ทั้งหลายเรียก ... ว่า เป็นปุถุชนเลว ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ผู้ใดในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียวแล้ว
(ต่อมา)เข้าไปเสพเมถุนธรรม ผู้รู้ทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า
เป็นปุถุชนเลวในโลก เหมือนยานที่แล่นไป ฉะนั้น
[52] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ยศและเกียรติในเบื้องต้นของภิกษุนั้นเสื่อมไป
ภิกษุเห็นสมบัติและวิบัตินี้แล้ว พึงศึกษาเพื่อละเมถุนธรรม

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 3/12

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :179 }