เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
คำว่า ผู้ใด ... เข้าไปเสพเมถุนธรรม อธิบายว่า ธรรมเนียมของอสัตบุรุษ ...
ชื่อว่าเมถุนธรรม เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า เมถุนธรรม1
คำว่า ผู้ใด ... เข้าไปเสพเมถุนธรรม อธิบายว่า ต่อมา ผู้ใดบอกลา
พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ สิกขา กลับมาเป็นคฤหัสถ์ แล้วเสพ เสพเป็นนิจ
คือ ซ่องเสพ เสพเฉพาะ ซึ่งเมถุนธรรม รวมความว่า ผู้ใด ... เข้าไปเสพเมถุนธรรม
คำว่า ยาน ในคำว่า ผู้นั้น ... ในโลก เหมือนยานที่แล่นไป ฉะนั้น อธิบาย
ว่า ยานคือช้าง ยานคือม้า ยานคือโค ยานคือแพะ ยานคือแกะ ยานคืออูฐ ยาน
คือลาที่แล่นไป คือ ยังไม่ได้ฝึกหัด ยังไม่ได้ฝึกฝน ยังไม่ได้อบรม ย่อมแล่นไป
ผิดทาง คือ ปีนตอไม้บ้าง ก้อนหินบ้าง ซึ่งไม่ราบเรียบ ทำร้ายยานเองบ้าง ผู้ขับขี่บ้าง
ตกลงไปในเหวบ้าง ผู้นั้นสึกแล้ว เปรียบได้กับยานที่แล่นไป ย่อมแล่นไปสู่ทางผิด คือ
ถือทิฏฐิผิด ... ถือสมาธิผิด เหมือนยานที่แล่นไปนั้น คือที่ยังไม่ได้ฝึกหัด ยังไม่ได้
ฝึกฝน ยังไม่ได้อบรม ย่อมแล่นไปผิดทาง ฉะนั้น
ผู้นั้นสึกแล้วเปรียบได้กับยานที่แล่นไป ย่อมแล่นไปสู่กายกรรม วจีกรรม
มโนกรรมที่ผิด ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา
ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ สังขารทั้งหลาย กามคุณ 5
นิวรณ์ 5 เหมือนยานที่แล่นไปนั้น คือ ที่ยังไม่ได้ฝึกหัด ยังไม่ได้ฝึกฝน ยังไม่ได้
อบรม ย่อมปีนตอไม้บ้าง ก้อนหินบ้าง ซึ่งไม่ราบเรียบ ฉะนั้น
ผู้นั้นสึกแล้วเปรียบได้กับยานที่แล่นไป ย่อมทำลายตนในนรก ย่อมทำลายตน
ในกำเนิดเดรัจฉาน ย่อมทำลายตนในเปตวิสัย ย่อมทำลายตนในมนุษยโลก ย่อม
ทำลายตนในเทวโลก เหมือนยานที่แล่นไปนั้น คือ ที่ยังไม่ได้ฝึกหัด ยังไม่ได้ฝึกฝน
ยังไม่ได้อบรม ย่อมทำลายยานเองบ้าง ผู้ขับขี่บ้าง ฉะนั้น
ผู้นั้นสึกแล้วเปรียบได้กับยานที่แล่นไป ย่อมตกไปในเหวคือชาติบ้าง เหวคือ
ชราบ้าง เหวคือพยาธิ(ความเจ็บป่วย)บ้าง เหวคือมรณะบ้าง เหวคือโสกะ(ความ
เศร้าโศก) ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกขะ(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ)
และอุปายาส(ความคับแค้นใจ)บ้าง เหมือนยานที่แล่นไปนั้น คือ ที่ยังไม่ได้ฝึกหัด
ยังไม่ได้ฝึกฝน ยังไม่ได้อบรม ย่อมตกลงไปในเหวบ้าง ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 49/168

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :178 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ... มนุษยโลก1 รวมความว่า ผู้นั้น ... ในโลก
เหมือนยานที่แล่นไป ฉะนั้น
คำว่า ปุถุชน ในคำว่า ผู้รู้ทั้งหลายเรียก ... ว่า เป็นปุถุชนเลว อธิบายว่า
ชื่อว่าปุถุชน เพราะมีความหมายว่าอย่างไร ชื่อว่าปุถุชน เพราะให้กิเลสหยาบเกิดขึ้น
ชื่อว่าปุถุชน เพราะมีสักกายทิฏฐิอันหนาแน่นยังละไม่ได้ ชื่อว่าปุถุชน เพราะ
ปฏิญญาต่อหน้าศาสดาหลายองค์ ชื่อว่าปุถุชน เพราะถูกคติทุกอย่างร้อยรัดไว้มาก
ชื่อว่าปุถุชน เพราะปรุงแต่งอภิสังขารต่าง ๆ เป็นอันมาก ชื่อว่าปุถุชน เพราะถูก
โอฆะกิเลสต่าง ๆ เป็นอันมากพัดพาไป ชื่อว่าปุถุชน เพราะเดือดร้อนด้วยความ
เดือดร้อนต่าง ๆ เป็นอันมาก ชื่อว่าปุถุชน เพราะถูกความเร่าร้อนต่าง ๆ เป็นอันมาก
แผดเผา ชื่อว่าปุถุชน เพราะกำหนัด ยินดี ติดใจ หมกมุ่น เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพัน
ในกามคุณ 5 เป็นอันมาก ชื่อว่าปุถุชน เพราะถูกนิวรณ์ 5 อย่างเป็นอันมาก หุ้มห่อ
โอบล้อม ห้อมล้อม ครอบคลุม ปกคลุม บดบัง
คำว่า ผู้รู้ทั้งหลายเรียก ... ว่า เป็นปุถุชนเลว อธิบายว่า ผู้รู้ทั้งหลายเรียก
คือ พูด บอก แสดง ชี้แจง อย่างนี้ว่า เป็นปุถุชนเลว คือ ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ
หยาบช้า ต่ำต้อย รวมความว่า ผู้รู้ทั้งหลายเรียก ... ว่า เป็นปุถุชนเลว ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ผู้ใดในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียวแล้ว
(ต่อมา)เข้าไปเสพเมถุนธรรม ผู้รู้ทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า
เป็นปุถุชนเลวในโลก เหมือนยานที่แล่นไป ฉะนั้น
[52] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ยศและเกียรติในเบื้องต้นของภิกษุนั้นเสื่อมไป
ภิกษุเห็นสมบัติและวิบัตินี้แล้ว พึงศึกษาเพื่อละเมถุนธรรม

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 3/12

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :179 }