เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
คำสั่งสอนของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ
ย่อมเลอะเลือน และบุคคลนั้นย่อมปฏิบัติผิด
การปฏิบัตินี้ เป็นธรรมไม่ประเสริฐในบุคคลนั้น
[51] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า)
ผู้ใดในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียวแล้ว
(ต่อมา)เข้าไปเสพเมถุนธรรม ผู้รู้ทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า
เป็นปุถุชนเลวในโลก เหมือนยานที่แล่นไป ฉะนั้น

ว่าด้วยผู้บวชแล้วสึก
คำว่า ในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียว อธิบายว่า ในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียวด้วย
เหตุ 2 อย่าง คือ (1) ด้วยการบวช (2) ด้วยการละความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
ในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียวด้วยการบวช เป็นอย่างไร
คือ ผู้นั้นตัดความกังวลเรื่องการครองเรือน ตัดความกังวลเรื่องบุตรภรรยา
ตัดความกังวลเรื่องญาติ ตัดความกังวลเรื่องมิตรและอำมาตย์ ตัดความกังวลเรื่อง
การสะสมทั้งหมด โกนผมและหนวดแล้ว นุ่งห่มผ้ากาสาวะ ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิต เข้าถึงความไม่กังวลแล้ว เที่ยวไปผู้เดียว คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปผู้เดียว ชื่อว่าในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียวด้วยการบวช
เป็นอย่างนี้
ในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียวด้วยการละความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เป็นอย่างไร
คือ เธอเมื่อเป็นนักบวชแล้วอย่างนี้ผู้เดียว ก็ใช้สอยเสนาสนะที่เป็นป่าละเมาะ
และป่าทึบ อันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน
ควรเป็นสถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น เธอเดินรูปเดียว ยืนรูป
เดียว นั่งรูปเดียว นอนรูปเดียว เข้าหมู่บ้านเพื่อบิณฑบาตรูปเดียว กลับมารูปเดียว
นั่งในที่ลับรูปเดียว อธิษฐานจงกรมรูปเดียว เที่ยวไปผู้เดียว คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป
เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปผู้เดียว ชื่อว่าในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียวด้วย
การละความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เป็นอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :177 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
คำว่า ผู้ใด ... เข้าไปเสพเมถุนธรรม อธิบายว่า ธรรมเนียมของอสัตบุรุษ ...
ชื่อว่าเมถุนธรรม เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า เมถุนธรรม1
คำว่า ผู้ใด ... เข้าไปเสพเมถุนธรรม อธิบายว่า ต่อมา ผู้ใดบอกลา
พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ สิกขา กลับมาเป็นคฤหัสถ์ แล้วเสพ เสพเป็นนิจ
คือ ซ่องเสพ เสพเฉพาะ ซึ่งเมถุนธรรม รวมความว่า ผู้ใด ... เข้าไปเสพเมถุนธรรม
คำว่า ยาน ในคำว่า ผู้นั้น ... ในโลก เหมือนยานที่แล่นไป ฉะนั้น อธิบาย
ว่า ยานคือช้าง ยานคือม้า ยานคือโค ยานคือแพะ ยานคือแกะ ยานคืออูฐ ยาน
คือลาที่แล่นไป คือ ยังไม่ได้ฝึกหัด ยังไม่ได้ฝึกฝน ยังไม่ได้อบรม ย่อมแล่นไป
ผิดทาง คือ ปีนตอไม้บ้าง ก้อนหินบ้าง ซึ่งไม่ราบเรียบ ทำร้ายยานเองบ้าง ผู้ขับขี่บ้าง
ตกลงไปในเหวบ้าง ผู้นั้นสึกแล้ว เปรียบได้กับยานที่แล่นไป ย่อมแล่นไปสู่ทางผิด คือ
ถือทิฏฐิผิด ... ถือสมาธิผิด เหมือนยานที่แล่นไปนั้น คือที่ยังไม่ได้ฝึกหัด ยังไม่ได้
ฝึกฝน ยังไม่ได้อบรม ย่อมแล่นไปผิดทาง ฉะนั้น
ผู้นั้นสึกแล้วเปรียบได้กับยานที่แล่นไป ย่อมแล่นไปสู่กายกรรม วจีกรรม
มโนกรรมที่ผิด ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา
ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ สังขารทั้งหลาย กามคุณ 5
นิวรณ์ 5 เหมือนยานที่แล่นไปนั้น คือ ที่ยังไม่ได้ฝึกหัด ยังไม่ได้ฝึกฝน ยังไม่ได้
อบรม ย่อมปีนตอไม้บ้าง ก้อนหินบ้าง ซึ่งไม่ราบเรียบ ฉะนั้น
ผู้นั้นสึกแล้วเปรียบได้กับยานที่แล่นไป ย่อมทำลายตนในนรก ย่อมทำลายตน
ในกำเนิดเดรัจฉาน ย่อมทำลายตนในเปตวิสัย ย่อมทำลายตนในมนุษยโลก ย่อม
ทำลายตนในเทวโลก เหมือนยานที่แล่นไปนั้น คือ ที่ยังไม่ได้ฝึกหัด ยังไม่ได้ฝึกฝน
ยังไม่ได้อบรม ย่อมทำลายยานเองบ้าง ผู้ขับขี่บ้าง ฉะนั้น
ผู้นั้นสึกแล้วเปรียบได้กับยานที่แล่นไป ย่อมตกไปในเหวคือชาติบ้าง เหวคือ
ชราบ้าง เหวคือพยาธิ(ความเจ็บป่วย)บ้าง เหวคือมรณะบ้าง เหวคือโสกะ(ความ
เศร้าโศก) ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกขะ(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ)
และอุปายาส(ความคับแค้นใจ)บ้าง เหมือนยานที่แล่นไปนั้น คือ ที่ยังไม่ได้ฝึกหัด
ยังไม่ได้ฝึกฝน ยังไม่ได้อบรม ย่อมตกลงไปในเหวบ้าง ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 49/168

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :178 }