เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
ว่าด้วยคำสอน 2 ส่วน
คำว่า คำสั่งสอน ... ย่อมเลอะเลือน ได้แก่ คำสั่งสอนเลอะเลือนโดยส่วน
ทั้ง 2 คือ (1) คำสั่งสอนส่วนปริยัติเลอะเลือน (2) คำสั่งสอนส่วนปฏิบัติเลอะเลือน
คำสั่งสอนส่วนปริยัติ เป็นอย่างไร
คือ คำสั่งสอนที่เล่าเรียนของเขา คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา
อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ นี้ชื่อว่าคำสั่งสอนส่วนปริยัติ
คำสั่งสอนนั้น ย่อมเลอะเลือน คือ ย่อมฟั่นเฟือน หลงลืม เลือนหาย ห่างหาย
รวมความว่า คำสั่งสอน ... ย่อมเลอะเลือน อย่างนี้บ้าง
คำสั่งสอนส่วนปฏิบัติ เป็นอย่างไร
คือ การปฏิบัติชอบ การปฏิบัติเหมาะสม การปฏิบัติที่ไม่เป็นข้าศึก การปฏิบัติ
ที่เอื้อประโยชน์ การปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม การรักษาศีลให้บริบูรณ์
ความเป็นผู้สำรวมอินทรีย์ทั้ง 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ความเป็นผู้รู้จักประมาณ
ในการบริโภคอาหาร ความเป็นผู้มีความเพียรเครื่องตื่นอยู่เสมอ สติสัมปชัญญะ
สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7
อริยมรรคมีองค์ 8 นี้ชื่อว่าคำสั่งสอนส่วนปฏิบัติ คำสั่งสอนนั้น ย่อมเลอะเลือน คือ
ย่อมฟั่นเฟือน หลงลืม เลือนหาย ห่างหาย รวมความว่า คำสั่งสอน ... ย่อม
เลอะเลือน อย่างนี้บ้าง
คำว่า บุคคลนั้นย่อมปฏิบัติผิด อธิบายว่า บุคคลนั้นฆ่าสัตว์บ้าง ลักทรัพย์
บ้าง ตัดช่องย่องเบาบ้าง ขโมยยกเค้าบ้าง ปล้นบ้านบ้าง ดักจี้ในทางเปลี่ยวบ้าง
ละเมิดภรรยาของผู้อื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง รวมความว่า บุคคลนั้นย่อมปฏิบัติผิด
คำว่า การปฏิบัตินี้ เป็นธรรมไม่ประเสริฐในบุคคลนั้น อธิบายว่า การ
ปฏิบัติผิด เป็นธรรมไม่ประเสริฐ เป็นธรรมของคนโง่ เป็นธรรมของคนหลง เป็น
ธรรมของคนไม่รู้ เป็นธรรมของคนมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน ในบุคคลนั้น รวม
ความว่า การปฏิบัตินี้เป็นธรรมไม่ประเสริฐในบุคคลนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า เมตเตยยะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :176 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
คำสั่งสอนของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ
ย่อมเลอะเลือน และบุคคลนั้นย่อมปฏิบัติผิด
การปฏิบัตินี้ เป็นธรรมไม่ประเสริฐในบุคคลนั้น
[51] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า)
ผู้ใดในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียวแล้ว
(ต่อมา)เข้าไปเสพเมถุนธรรม ผู้รู้ทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า
เป็นปุถุชนเลวในโลก เหมือนยานที่แล่นไป ฉะนั้น

ว่าด้วยผู้บวชแล้วสึก
คำว่า ในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียว อธิบายว่า ในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียวด้วย
เหตุ 2 อย่าง คือ (1) ด้วยการบวช (2) ด้วยการละความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
ในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียวด้วยการบวช เป็นอย่างไร
คือ ผู้นั้นตัดความกังวลเรื่องการครองเรือน ตัดความกังวลเรื่องบุตรภรรยา
ตัดความกังวลเรื่องญาติ ตัดความกังวลเรื่องมิตรและอำมาตย์ ตัดความกังวลเรื่อง
การสะสมทั้งหมด โกนผมและหนวดแล้ว นุ่งห่มผ้ากาสาวะ ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิต เข้าถึงความไม่กังวลแล้ว เที่ยวไปผู้เดียว คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปผู้เดียว ชื่อว่าในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียวด้วยการบวช
เป็นอย่างนี้
ในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียวด้วยการละความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เป็นอย่างไร
คือ เธอเมื่อเป็นนักบวชแล้วอย่างนี้ผู้เดียว ก็ใช้สอยเสนาสนะที่เป็นป่าละเมาะ
และป่าทึบ อันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน
ควรเป็นสถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น เธอเดินรูปเดียว ยืนรูป
เดียว นั่งรูปเดียว นอนรูปเดียว เข้าหมู่บ้านเพื่อบิณฑบาตรูปเดียว กลับมารูปเดียว
นั่งในที่ลับรูปเดียว อธิษฐานจงกรมรูปเดียว เที่ยวไปผู้เดียว คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป
เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปผู้เดียว ชื่อว่าในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียวด้วย
การละความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เป็นอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :177 }