เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
คำว่า ของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ ได้แก่ ของบุคคลผู้ประกอบ
ประกอบทั่ว ประกอบทั่วถึง ประกอบพร้อมในเมถุนธรรม คือ ผู้ประพฤติเรื่องนั้น
มากไปด้วยเรื่องนั้น หนักในเรื่องนั้น เอนไปในเรื่องนั้น โอนไปในเรื่องนั้น โน้มไปใน
เรื่องนั้น น้อมใจไปในเรื่องนั้น มุ่งเรื่องนั้นเป็นใหญ่ รวมความว่า ของบุคคลผู้
ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ

อธิบายคำว่า ภควา
คำว่า เมตเตยยะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพระเถระนั้นโดยโคตร
คำว่า พระผู้มีพระภาค เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ
อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายราคะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโทสะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโมหะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายมานะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายทิฏฐิได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายเสี้ยนหนามได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายกิเลสได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงจำแนก แยกแยะ แจกแจงธรรมรัตนะ
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำที่สุดแห่งภพได้
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมพระวรกายแล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญาแล้ว
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงใช้สอยเสนาสนะที่เป็นป่าละเมาะและป่าทึบ
อันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็น
สถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :173 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งอรรถรส1 ธรรมรส2 วิมุตติรส3
อธิสีล อธิจิต อธิปัญญา จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งฌาน 4 อัปปมัญญา 4
อรูปสมาบัติ 4 จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งวิโมกข์ 8 อภิภายตนะ4 8
อนุปุพพวิหารสมาบัติ 9 จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งสัญญาภาวนา 10
กสิณสมาบัติ5 10 อานาปานสติสมาธิ6 อสุภสมาบัติ7 จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งสติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4
อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8 จึงชื่อว่า
พระผู้มีพระภาค

เชิงอรรถ :
1 อรรถรส หมายถึงความถึงพร้อมแห่งผลของเหตุ (ขุ.ม.อ. 50/266)
2 ธรรมรส หมายถึงความถึงพร้อมแห่งเหตุ (ขุ.ม.อ. 50/266)
3 วิมุตติรส หมายถึงความถึงพร้อมแห่งผล (ขุ.ม.อ. 50/266)
4 อภิภายตนะ คือฌานที่ครอบงำนิวรณธรรมและอารมณ์ที่เล็กหรือใหญ่ได้ (ม.ม. 13/249/224)
5 กสิณสมาบัติ หมายถึงภาวะสงบประณีตซึ่งพึงเข้าถึงด้วยการกำหนดวัตถุสำหรับเพ่งเพื่อจูงจิตให้เป็นสมาธิ
ได้แก่ ฌาน 10 มีปฐวีกสิณฌานเป็นต้น (ขุ.ม.อ. 50/266)
6 อานาปานสติสมาธิ ได้แก่สมาธิเกี่ยวเนื่องด้วยการตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก (ขุ.ม.อ. 50/266)
7 อสุภสมาบัติ หมายถึงภาวะสงบประณีตซึ่งพึงเข้าถึงด้วยการพิจารณาร่างกายของตนและผู้อื่นให้
เห็นสภาพที่ไม่งาม หมายถึงซากศพในสภาพต่าง ๆ 10 อย่าง คือ (1) ซากศพที่เน่าพอง (2) ซากศพ
ที่มีสีเขียว (3) ซากศพที่มีน้ำเหลืองไหล (4) ซากศพที่ขาดกลางตัว (5) ซากศพที่สัตว์กัดกินแล้ว (6) ซาก
ศพที่มีมือเท้าศีรษะขาด (7) ซากศพที่ถูกสับ ฟัน เป็นท่อน ๆ (8) ซากศพที่มีโลหิตไหลอยู่ (9) ซากศพ
ที่มีตัวหนอนคลาคล่ำไปอยู่ (10) ซากศพที่ยังเหลืออยู่แต่ร่างกระดูก (วิสุทฺธิ. 1/102/194)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :174 }