เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ความคับแค้นของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ
พวกข้าพระองค์ฟังคำสอนของพระองค์แล้วจักศึกษาวิเวก
[50] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมตเตยยะ)
คำสั่งสอนของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ
ย่อมเลอะเลือน และบุคคลนั้นย่อมปฏิบัติผิด
การปฏิบัตินี้ เป็นธรรมไม่ประเสริฐในบุคคลนั้น
คำว่า ของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ อธิบายว่า ธรรมเนียมของ
อสัตบุรุษ คือ ธรรมเนียมของชาวบ้าน ธรรมเนียมชั้นต่ำ ธรรมเนียมที่เลวทราม
ธรรมเนียมที่มีน้ำเป็นที่สุด ธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันในที่ลับ ธรรมเนียมที่ต้องปฏิบัติ
กันเป็นคู่ ๆ ชื่อว่าเมถุนธรรม
เพราะเหตุไร จึงตรัสเรียกว่า เมถุนธรรม เพราะธรรมนั้นเป็นธรรมเนียมของ
คนคู่ ผู้กำหนัด กำหนัดนัก เปียกชุ่ม กลัดกลุ้มด้วยราคะ ถูกราคะครอบงำจิตเสมอ
กันทั้ง 2 คน เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า เมถุนธรรม
คน 2 คนก่อการทะเลาะกัน เรียกว่าคู่ทะเลาะ
คน 2 คนก่อการบาดหมางกัน เรียกว่าคู่บาดหมาง
คน 2 คนก่อการอื้อฉาวกัน เรียกว่าคู่อื้อฉาว
คน 2 คนก่อการวิวาทกัน เรียกว่าคู่วิวาท
คน 2 คนก่ออธิกรณ์กัน เรียกว่าคู่อธิกรณ์
คน 2 คนสนทนากัน เรียกว่าคู่สนทนา
คน 2 คนเจรจากัน เรียกว่าคู่เจรจา ฉันใด
ธรรมนั้นเป็นธรรมเนียมของคนคู่ ผู้กำหนัด กำหนัดนัก เปียกชุ่ม กลัดกลุ้ม
ด้วยราคะ ถูกราคะครอบงำจิตเสมอกันทั้ง 2 คน ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น
จึงตรัสเรียกว่า เมถุนธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :172 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
คำว่า ของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ ได้แก่ ของบุคคลผู้ประกอบ
ประกอบทั่ว ประกอบทั่วถึง ประกอบพร้อมในเมถุนธรรม คือ ผู้ประพฤติเรื่องนั้น
มากไปด้วยเรื่องนั้น หนักในเรื่องนั้น เอนไปในเรื่องนั้น โอนไปในเรื่องนั้น โน้มไปใน
เรื่องนั้น น้อมใจไปในเรื่องนั้น มุ่งเรื่องนั้นเป็นใหญ่ รวมความว่า ของบุคคลผู้
ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ

อธิบายคำว่า ภควา
คำว่า เมตเตยยะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพระเถระนั้นโดยโคตร
คำว่า พระผู้มีพระภาค เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ
อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายราคะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโทสะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโมหะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายมานะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายทิฏฐิได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายเสี้ยนหนามได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายกิเลสได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงจำแนก แยกแยะ แจกแจงธรรมรัตนะ
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำที่สุดแห่งภพได้
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมพระวรกายแล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญาแล้ว
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงใช้สอยเสนาสนะที่เป็นป่าละเมาะและป่าทึบ
อันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็น
สถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :173 }