เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
พระอรหันต์ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด
ย่อมไม่สำคัญหมายรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยินและอารมณ์ที่รับรู้
พระอรหันต์นั้นไม่ต้องการความหมดจดด้วยมรรคอื่น
ย่อมไม่กำหนัด ย่อมไม่ต้องคลายกำหนัด
ชราสุตตนิทเทสที่ 6 จบ

7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส1
อธิบายติสสเมตเตยยสูตร
ว่าด้วยปัญหาของติสสเมตเตยยะ
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายติสสเมตเตยยสูตร ดังต่อไปนี้
[49] (ท่านพระติสสเมตเตยยะกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ความคับแค้นของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ
พวกข้าพระองค์ฟังคำสอนของพระองค์แล้วจักศึกษาวิเวก

ว่าด้วยเมถุนธรรม
คำว่า ของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ อธิบายว่า ธรรมเนียมของ
อสัตบุรุษ คือ ธรรมเนียมของชาวบ้าน ธรรมเนียมชั้นต่ำ ธรรมเนียมที่เลวทราม
ธรรมเนียมที่มีน้ำเป็นที่สุด ธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันในที่ลับ ธรรมเนียมที่ต้องปฏิบัติ
กันเป็นคู่ ๆ ชื่อว่าเมถุนธรรม
เพราะเหตุไร จึงตรัสเรียกว่า เมถุนธรรม เพราะธรรมนั้นเป็นธรรมเนียมของ
คนคู่ ผู้กำหนัด กำหนัดนัก เปียกชุ่ม กลัดกลุ้มด้วยราคะ ถูกราคะครอบงำจิตเสมอ
กันทั้ง 2 คน เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า เมถุนธรรม

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/821-830/495-496

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :168 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
คน 2 คนก่อการทะเลาะกัน เรียกว่าคู่ทะเลาะ
คน 2 คนก่อการบาดหมางกัน เรียกว่าคู่บาดหมาง
คน 2 คนก่อการอื้อฉาวกัน เรียกว่าคู่อื้อฉาว
คน 2 คนก่อการวิวาทกัน เรียกว่าคู่วิวาท
คน 2 คนก่ออธิกรณ์กัน เรียกว่าคู่อธิกรณ์
คน 2 คนสนทนากัน เรียกว่าคู่สนทนา
คน 2 คนเจรจากัน เรียกว่าคู่เจรจา ฉันใด
ธรรมนั้นเป็นธรรมเนียมของคนคู่ ผู้กำหนัด กำหนัดนัก เปียกชุ่ม กลัดกลุ้ม
ด้วยราคะ ถูกราคะครอบงำจิตเสมอกันทั้ง 2 คน ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น
จึงตรัสเรียกว่า เมถุนธรรม
คำว่า ของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ ได้แก่ ของบุคคลผู้ประกอบ
ประกอบทั่ว ประกอบทั่วถึง ประกอบพร้อมในเมถุนธรรม คือ ผู้ประพฤติเรื่องนั้น
มากไปด้วยเรื่องนั้น หนักในเรื่องนั้น เอนไปในเรื่องนั้น โอนไปในเรื่องนั้น โน้มไป
ในเรื่องนั้น น้อมใจไปในเรื่องนั้น มุ่งเรื่องนั้นเป็นใหญ่ รวมความว่า ของบุคคลผู้
ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านพระติสสเมตเตยยะกราบทูลดังนี้ เป็นบทสนธิ
เป็นคำเชื่อมบท เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์ เป็นความสัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความ
สละสลวยแห่งพยัญชนะ คำว่า ดังนี้ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ เป็นคำ
กล่าวที่มีความเคารพ คำว่า ท่าน นี้ เป็นคำกล่าวแสดงความยำเกรง
คำว่า ติสสะ เป็นชื่อของพระเถระนั้น คือ เป็นการกล่าวถึง การขนานนาม
การบัญญัติ ชื่อที่เรียกกัน ชื่อ การตั้งชื่อ ชื่อที่ตั้งให้ ภาษา พยัญชนะ ชื่อเรียกเฉพาะ
คำว่า เมตเตยยะ เป็นโคตรของพระเถระนั้น คือ เป็นการกล่าวถึง การ
ขนานนาม การบัญญัติ ชื่อที่เรียกกัน รวมความว่า ท่านพระติสสเมตเตยยะ
กราบทูลดังนี้
คำว่า ความคับแค้น ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอพระองค์โปรด
ตรัสบอกความคับแค้น อธิบายว่า ขอพระองค์โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง
บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศความคับแค้น คือ ความ
เคียดแค้น ความบีบคั้น ความอึดอัด ความเบียดเบียน ความขัดข้อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :169 }