เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 6. ชราสุตตนิทเทส
"ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนสำคัญหมายกันว่า เรามีอยู่ ... เรานี้มีอยู่ ... เราจักมี ...
เราจักไม่มี ... เราจักเป็นผู้มีรูป ... เราจักเป็นผู้ไม่มีรูป ... เราจักเป็นผู้มีสัญญา ... เรา
จักเป็นผู้ไม่มีสัญญา ... เราจักเป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ... ภิกษุทั้งหลาย
ความสำคัญหมายเป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นอุปัทวะ ภิกษุทั้งหลาย
เพราะฉะนั้นแล พวกเธอพึงศึกษาในธรรมวินัยอย่างนี้ว่า พวกเราจักมีจิตไม่สำคัญ
หมายอยู่"1 รวมความว่า พระอรหันต์ ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ย่อมไม่สำคัญ
หมายรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยินและอารมณ์ที่รับรู้
คำว่า พระอรหันต์นั้นไม่ต้องการความหมดจดด้วยมรรคอื่น อธิบายว่า
พระอรหันต์ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ย่อมไม่ต้องการ คือ ย่อมไม่ยินดี ไม่ปรารถนา
ไม่มุ่งหมาย ไม่มุ่งหวังความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป
ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปด้วยมรรคอื่น คือ ด้วยมรรคที่ไม่หมดจด ปฏิปทาที่ผิด
ทางที่ไม่นำออกจากทุกข์ นอกจากสติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์
พละ โพชฌงค์ และอริยมรรคมีองค์ 8 รวมความว่า พระอรหันต์นั้นไม่ต้องการ
ความหมดจดด้วยมรรคอื่น
คำว่า พระอรหันต์นั้นย่อมไม่กำหนัด ย่อมไม่ต้องคลายกำหนัด อธิบายว่า
พาลปุถุชนทั้งปวงย่อมกำหนัด พระเสขะ2 7 จำพวกรวมทั้งกัลยาณปุถุชน3 ย่อม
คลายกำหนัด พระอรหันต์ย่อมไม่กำหนัด ย่อมไม่คลายกำหนัด พระอรหันต์นั้น
คลายกำหนัดแล้ว เพราะเป็นผู้ปราศจากราคะ เหตุสิ้นราคะ เพราะเป็นผู้ปราศจาก
โทสะ เหตุสิ้นโทสะ เพราะเป็นผู้ปราศจากโมหะ เหตุสิ้นโมหะ ท่านอยู่ใน(อริยวาส-
ธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรมแล้ว ... พระอรหันต์ไม่มีการเวียนเกิด เวียนแก่ เวียน
ตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก รวมความว่า พระอรหันต์นั้นย่อมไม่กำหนัด ย่อมไม่ต้อง
คลายกำหนัด ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

เชิงอรรถ :
1 สํ.สฬา. 18/248/186
2 พระเสขะ หมายถึงท่านผู้ยังต้องศึกษาหรือพระอริยบุคคล 7 จำพวกเบื้องต้นในจำนวนพระอริยบุคคล 8
คือ (1) พระโสดาปัตติมรรค (2) พระโสดาปัตติผล (3) พระสกทาคามิมรรค (4) พระสกทาคามิผล
(5) พระอนาคามิมรรค (6) พระอนาคามิผล (7) พระอรหัตตมรรค (8) พระอรหัตตผล (พระอเสขะ)
(ที.ปา. 11/333/224)
3 กัลยาณปุถุชน คือปุถุชนผู้มีคุณธรรมสูง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :167 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
พระอรหันต์ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด
ย่อมไม่สำคัญหมายรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยินและอารมณ์ที่รับรู้
พระอรหันต์นั้นไม่ต้องการความหมดจดด้วยมรรคอื่น
ย่อมไม่กำหนัด ย่อมไม่ต้องคลายกำหนัด
ชราสุตตนิทเทสที่ 6 จบ

7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส1
อธิบายติสสเมตเตยยสูตร
ว่าด้วยปัญหาของติสสเมตเตยยะ
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายติสสเมตเตยยสูตร ดังต่อไปนี้
[49] (ท่านพระติสสเมตเตยยะกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ความคับแค้นของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ
พวกข้าพระองค์ฟังคำสอนของพระองค์แล้วจักศึกษาวิเวก

ว่าด้วยเมถุนธรรม
คำว่า ของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ อธิบายว่า ธรรมเนียมของ
อสัตบุรุษ คือ ธรรมเนียมของชาวบ้าน ธรรมเนียมชั้นต่ำ ธรรมเนียมที่เลวทราม
ธรรมเนียมที่มีน้ำเป็นที่สุด ธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันในที่ลับ ธรรมเนียมที่ต้องปฏิบัติ
กันเป็นคู่ ๆ ชื่อว่าเมถุนธรรม
เพราะเหตุไร จึงตรัสเรียกว่า เมถุนธรรม เพราะธรรมนั้นเป็นธรรมเนียมของ
คนคู่ ผู้กำหนัด กำหนัดนัก เปียกชุ่ม กลัดกลุ้มด้วยราคะ ถูกราคะครอบงำจิตเสมอ
กันทั้ง 2 คน เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า เมถุนธรรม

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/821-830/495-496

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :168 }