เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 6. ชราสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง สัมมาทิฏฐิ เป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้างและซักฟอกมิจฉาทิฏฐิได้

สัมมาสังกัปปะ เป็นเครื่องกำจัด ... มิจฉาสังกัปปะได้
สัมมาวาจา เป็นเครื่องกำจัด ... มิจฉาวาจาได้
สัมมากัมมันตะ เป็นเครื่องกำจัด ... มิจฉากัมมันตะได้
สัมมาอาชีวะ เป็นเครื่องกำจัด ... มิจฉาอาชีวะได้
สัมมาวายามะ เป็นเครื่องกำจัด ... มิจฉาวายามะได้
สัมมาสติ เป็นเครื่องกำจัด ... มิจฉาสติได้
สัมมาสมาธิ เป็นเครื่องกำจัด ... มิจฉาสมาธิได้
สัมมาญาณ เป็นเครื่องกำจัด ... มิจฉาญาณได้


สัมมาวิมุตติ เป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้าง และซักฟอกมิจฉาวิมุตติได้

อีกนัยหนึ่ง อริยมรรคมีองค์ 8 เป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้าง และซักฟอกกิเลส
ทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อนทุกสถาน
... ความเดือดร้อนทุกประการ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภท พระอรหันต์ประกอบ
ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมด้วย
ธรรมเป็นเครื่องกำจัดเหล่านี้ เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงชื่อว่าผู้มีปัญญาเครื่อง
กำจัด พระอรหันต์นั้น เป็นผู้กำจัดความกำหนัดได้แล้ว กำจัดบาปได้แล้ว กำจัด
กิเลสได้แล้ว กำจัดความเร่าร้อนได้แล้ว รวมความว่า ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด
คำว่า พระอรหันต์ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ย่อมไม่สำคัญหมายรูปที่เห็น เสียง
ที่ได้ยินและอารมณ์ที่รับรู้ อธิบายว่า พระอรหันต์ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ย่อมไม่
สำคัญหมายรูปที่เห็น ไม่สำคัญหมายในรูปที่เห็น ไม่สำคัญหมายโดยรูปที่เห็น
คือไม่สำคัญหมายว่า "เราเห็นรูปแล้ว" ไม่สำคัญหมายเสียงที่ได้ยิน ไม่สำคัญหมาย
ในเสียงที่ได้ยิน ไม่สำคัญหมายโดยเสียงที่ได้ยิน คือ ไม่สำคัญหมายว่า "เราได้ยิน
เสียงแล้ว" ไม่สำคัญหมายอารมณ์ที่รับรู้ ไม่สำคัญหมายในอารมณ์ที่รับรู้ ไม่สำคัญ
หมายโดยอารมณ์ที่รับรู้ คือ ไม่สำคัญหมายว่า "เรารับรู้อารมณ์แล้ว" ไม่สำคัญ
หมายธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ไม่สำคัญหมายในธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ไม่สำคัญหมายโดย
ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง คือ ไม่สำคัญหมายว่า "เรารู้แจ้งธรรมารมณ์แล้ว" สมจริงดังที่
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :166 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 6. ชราสุตตนิทเทส
"ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนสำคัญหมายกันว่า เรามีอยู่ ... เรานี้มีอยู่ ... เราจักมี ...
เราจักไม่มี ... เราจักเป็นผู้มีรูป ... เราจักเป็นผู้ไม่มีรูป ... เราจักเป็นผู้มีสัญญา ... เรา
จักเป็นผู้ไม่มีสัญญา ... เราจักเป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ... ภิกษุทั้งหลาย
ความสำคัญหมายเป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นอุปัทวะ ภิกษุทั้งหลาย
เพราะฉะนั้นแล พวกเธอพึงศึกษาในธรรมวินัยอย่างนี้ว่า พวกเราจักมีจิตไม่สำคัญ
หมายอยู่"1 รวมความว่า พระอรหันต์ ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ย่อมไม่สำคัญ
หมายรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยินและอารมณ์ที่รับรู้
คำว่า พระอรหันต์นั้นไม่ต้องการความหมดจดด้วยมรรคอื่น อธิบายว่า
พระอรหันต์ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ย่อมไม่ต้องการ คือ ย่อมไม่ยินดี ไม่ปรารถนา
ไม่มุ่งหมาย ไม่มุ่งหวังความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป
ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปด้วยมรรคอื่น คือ ด้วยมรรคที่ไม่หมดจด ปฏิปทาที่ผิด
ทางที่ไม่นำออกจากทุกข์ นอกจากสติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์
พละ โพชฌงค์ และอริยมรรคมีองค์ 8 รวมความว่า พระอรหันต์นั้นไม่ต้องการ
ความหมดจดด้วยมรรคอื่น
คำว่า พระอรหันต์นั้นย่อมไม่กำหนัด ย่อมไม่ต้องคลายกำหนัด อธิบายว่า
พาลปุถุชนทั้งปวงย่อมกำหนัด พระเสขะ2 7 จำพวกรวมทั้งกัลยาณปุถุชน3 ย่อม
คลายกำหนัด พระอรหันต์ย่อมไม่กำหนัด ย่อมไม่คลายกำหนัด พระอรหันต์นั้น
คลายกำหนัดแล้ว เพราะเป็นผู้ปราศจากราคะ เหตุสิ้นราคะ เพราะเป็นผู้ปราศจาก
โทสะ เหตุสิ้นโทสะ เพราะเป็นผู้ปราศจากโมหะ เหตุสิ้นโมหะ ท่านอยู่ใน(อริยวาส-
ธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรมแล้ว ... พระอรหันต์ไม่มีการเวียนเกิด เวียนแก่ เวียน
ตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก รวมความว่า พระอรหันต์นั้นย่อมไม่กำหนัด ย่อมไม่ต้อง
คลายกำหนัด ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

เชิงอรรถ :
1 สํ.สฬา. 18/248/186
2 พระเสขะ หมายถึงท่านผู้ยังต้องศึกษาหรือพระอริยบุคคล 7 จำพวกเบื้องต้นในจำนวนพระอริยบุคคล 8
คือ (1) พระโสดาปัตติมรรค (2) พระโสดาปัตติผล (3) พระสกทาคามิมรรค (4) พระสกทาคามิผล
(5) พระอนาคามิมรรค (6) พระอนาคามิผล (7) พระอรหัตตมรรค (8) พระอรหัตตผล (พระอเสขะ)
(ที.ปา. 11/333/224)
3 กัลยาณปุถุชน คือปุถุชนผู้มีคุณธรรมสูง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :167 }