เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 6. ชราสุตตนิทเทส
มุนีไม่อาศัยในสิ่งทั้งปวง ไม่ทำสัตว์สังขารไหนให้เป็นที่รัก
และไม่ทำสัตว์สังขารไหนให้ไม่เป็นที่รัก
ความคร่ำครวญและความตระหนี่ ไม่ติดอยู่ในมุนีนั้น
เหมือนหยาดน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว ฉะนั้น
[47] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
มุนีไม่ติดพันในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยินและอารมณ์ที่รับรู้
เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนใบบัว
เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนดอกบัว ฉะนั้น
คำว่า เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนใบบัว อธิบายว่า เม็ดน้ำ ตรัสเรียกว่า
หยาดน้ำ ใบของบัว ตรัสเรียกว่า ใบบัว เปรียบเหมือนหยาดน้ำ ไม่ติด คือ ไม่ติดแน่น
ไม่ติดพัน ได้แก่ เป็นของไม่ติดแล้ว ไม่ติดแน่นแล้ว ไม่ติดพันแล้ว บนใบบัว ฉะนั้น
รวมความว่า เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนใบบัว
คำว่า เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนดอกบัว ฉะนั้น อธิบายว่า ดอกของบัว
ตรัสเรียกว่า ดอกบัว น้ำตรัสเรียกว่า หยาดน้ำ เปรียบเหมือนหยาดน้ำไม่ติด คือ ไม่
ติดแน่น ไม่ติดพัน ได้แก่ เป็นของไม่ติดแล้ว ไม่ติดแน่นแล้ว ไม่ติดพันแล้วบนดอกบัว
ฉะนั้น รวมความว่า เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนดอกบัว ฉะนั้น
คำว่า เหมือน ... ฉะนั้น ในคำว่า มุนีไม่ติดพันในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
และอารมณ์ที่รับรู้เหมือน... ฉะนั้น เป็นคำอุปไมยทำอุปมาให้สมบูรณ์
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ...
ผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี1
คำว่า ความติด ได้แก่ ความติด 2 อย่าง คือ (1) ความติดด้วยอำนาจ
ตัณหา (2) ความติดด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความติดด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่า
ความติดด้วยอำนาจทิฏฐิ2

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 14/68-71
2 เทียบกับความในข้อ 12/58-59

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :164 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 6. ชราสุตตนิทเทส
มุนีละความติดด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความติดด้วยอำนาจทิฏฐิ
ได้แล้ว ไม่ติดในรูปที่เห็น ไม่ติดในเสียงที่ได้ยิน ไม่ติดในอารมณ์ที่รับรู้ ไม่ติดใน
ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งแล้ว คือ ไม่ติดแน่น ไม่ติดพัน ได้แก่ เป็นผู้ไม่ติดแล้ว ไม่ติด
แน่นแล้ว ไม่ติดพันแล้ว ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องแล้ว มีใจ
เป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่ รวมความว่า มุนีไม่ติดพันในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยินและ
อารมณ์ที่รับรู้เหมือน ... ฉะนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
มุนีไม่ติดพันในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยินและอารมณ์ที่รับรู้
เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนใบบัว
เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนดอกบัว ฉะนั้น
[48] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
พระอรหันต์ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด
ย่อมไม่สำคัญหมายรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยินและอารมณ์ที่รับรู้
พระอรหันต์นั้นไม่ต้องการความหมดจดด้วยมรรคอื่น
ย่อมไม่กำหนัด ย่อมไม่ต้องคลายกำหนัด
คำว่า ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ในคำว่า พระอรหันต์ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด
ย่อมไม่สำคัญหมายรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยินและอารมณ์ที่รับรู้ อธิบายว่า ปัญญา
ตรัสเรียกว่า เครื่องกำจัด คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ... ความไม่หลงงมงาย ความ
เลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ1
เพราะเหตุไร ปัญญาจึงตรัสเรียกว่า เครื่องกำจัด เพราะปัญญานั้นเป็นเครื่อง
กำจัด ชำระ ล้าง ซักฟอกกายทุจริต ... วจีทุจริต ... มโนทุจริต ... ราคะ ... โทสะ ... โมหะ ...
โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ... มัจฉริยะ ... มายา ... สาเถยยะ ...
ถัมภะ ... สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ... มทะ ... ปมาทะ ... กิเลสทุกชนิด ...
ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อนทุกสถาน ... ความ
เดือดร้อนทุกประการ ... เป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้าง และซักฟอก อกุสลาภิสังขาร
ทุกประเภท2 เพราะเหตุนั้น ปัญญาจึงตรัสเรียกว่า เครื่องกำจัด

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 21/92
2 ดูคำแปลจากข้อ 5/17

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :165 }