เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 6. ชราสุตตนิทเทส
ความคร่ำครวญและความตระหนี่ ไม่ติดอยู่ในมุนีนั้น
เหมือนหยาดน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว ฉะนั้น
คำว่า มุนีไม่อาศัยในสิ่งทั้งปวง อธิบายว่า อายตนะ 12 ตรัสเรียกว่า
สิ่งทั้งปวง คือ ตาและรูป หูและเสียง จมูกและกลิ่น ลิ้นและรส กายและโผฏฐัพพะ
ใจและธรรมารมณ์
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ...
ผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี1
คำว่า ไม่อาศัย ได้แก่ ความอาศัย 2 อย่าง คือ (1) ความอาศัยด้วยอำนาจ
ตัณหา (2) ความอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความอาศัยด้วยอำนาจตัณหา ...
นี้ชื่อว่าความอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ2
มุนีละความอาศัยด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความอาศัยด้วยอำนาจ
ทิฏฐิได้แล้ว ไม่อาศัยตา ... หู ... จมูก ... ลิ้น ... กาย ... ใจ ... รูป ... เสียง ... กลิ่น ...
รส ... โผฏฐัพพะ ... ธรรมารมณ์ ... ตระกูล ... หมู่คณะ ... อาวาส ... ลาภ ... ยศ ...
สรรเสริญ ... สุข ... จีวร ... บิณฑบาต ... เสนาสนะ ... คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ...
กามธาตุ ... รูปธาตุ ... อรูปธาตุ ... กามภพ ... รูปภพ ... อรูปภพ ... สัญญาภพ ...
อสัญญาภพ ... เนวสัญญานาสัญญายตนภพ ... เอกโวการภพ3 ... จตุโวการภพ4 ...
ปัญจโวการภพ5 ... ภพอดีต ... ภพอนาคต ... ภพปัจจุบัน ไม่อาศัยรูปที่เห็น ... เสียง
ที่ได้ยิน ... กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่รับรู้ และธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งแล้ว มุนีไม่อาศัย คือ
ไม่ติดแล้ว ไม่ติดแน่นแล้ว ไม่ติดพันแล้ว ไม่ติดใจแล้ว ออกแล้ว สลัดออกแล้ว
หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับธรรมทั้งปวงแล้ว มีใจเป็นอิสระ(จากความอาศัย)อยู่
รวมความว่า มุนีไม่อาศัยในสิ่งทั้งปวง

เชิงอรรถ :
1 มุนี ดูรายละเอียดข้อ 14/68-71
2 เทียบกับความในข้อ 12/58-59
3 เอกโวการภพ ดูเชิงอรรถข้อ 3/12
4 จตุโวการภพ ดูเชิงอรรถข้อ 3/12
5 ปัญจโวการภพ ดูเชิงอรรถข้อ 3/12

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :161 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 6. ชราสุตตนิทเทส
ว่าด้วยสิ่งเป็นที่รัก 2 จำพวก
คำว่า ไม่ทำสัตว์สังขารไหนให้เป็นที่รัก และไม่ทำสัตว์สังขารไหนให้ไม่เป็น
ที่รัก อธิบายว่า
คำว่า เป็นที่รัก ได้แก่ สิ่งเป็นที่รัก 2 จำพวก คือ (1) สัตว์ (2) สังขาร
สัตว์เหล่าไหนเป็นที่รัก สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ เป็นผู้ปรารถนาแต่สิ่งที่เป็น
ประโยชน์ ปรารถนาแต่สิ่งที่เกื้อกูล ปรารถนาแต่ความผาสุก ปรารถนาแต่ความ
หลุดพ้นจากโยคะ คือ มารดา บิดา พี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว บุตร ธิดา มิตร
อำมาตย์ ญาติ หรือผู้ร่วมสายโลหิตของผู้นั้น สัตว์เหล่านี้ ชื่อว่าสิ่งเป็นที่รัก
สังขารเหล่าไหนเป็นที่รัก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าชอบใจ สังขาร
เหล่านี้ ชื่อว่าสิ่งเป็นที่รัก
คำว่า ไม่เป็นที่รัก ได้แก่ สิ่งไม่เป็นที่รัก 2 จำพวก คือ (1) สัตว์ (2) สังขาร
สัตว์เหล่าไหนไม่เป็นที่รัก สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้เป็นผู้ปรารถนาแต่สิ่งที่มิใช่
ประโยชน์ ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาแต่ความไม่ผาสุก ไม่ปรารถนา
ความหลุดพ้นจากโยคะ ปรารถนาจะปลงชีวิตของผู้นั้น สัตว์เหล่านี้ ชื่อว่าไม่เป็นที่รัก
สังขารเหล่าไหนไม่เป็นที่รัก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอันไม่น่าชอบใจ
สังขารเหล่านี้ ชื่อว่าไม่เป็นที่รัก
คำว่า ไม่ทำสัตว์สังขารไหนให้เป็นที่รัก และไม่ทำสัตว์สังขารไหนให้ไม่เป็น
ที่รัก อธิบายว่า ไม่ทำให้เป็นที่รักด้วยอำนาจราคะว่า "สัตว์นี้เป็นที่รักของเรา สังขาร
เหล่านี้ เป็นที่ชอบใจของเรา" ไม่ทำให้ไม่เป็นที่รักด้วยอำนาจปฏิฆะ คือไม่ให้เกิด
ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้นว่า "สัตว์นี้ไม่เป็นที่รักของเรา สังขาร
เหล่านี้ไม่เป็นที่ชอบใจของเรา" รวมความว่า ไม่ทำสัตว์สังขารไหนให้เป็นที่รัก และ
ไม่ทำสัตว์สังขารไหนให้ไม่เป็นที่รัก
คำว่า ในมุนีนั้น ในคำว่า ความคร่ำครวญและความตระหนี่ไม่ติดอยู่ใน
มุนีนั้น เหมือนหยาดน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว ฉะนั้น ได้แก่ ในบุคคลผู้เป็นพระ
อรหันตขีณาสพ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :162 }