เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 6. ชราสุตตนิทเทส
พระเสขะเหล่านั้น ให้จิตหลีกเร้น ถอยกลับ หมุนกลับ ปิดกั้น ข่ม ห้าม รักษา
คุ้มครองจิตจากอารมณ์นั้น ๆ เที่ยวไป ประพฤติ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป คือ ให้จิตหลีกเร้น ถอยกลับ หมุนกลับ ปิดกั้น
ข่ม ห้าม รักษา คุ้มครองจิตในจักขุทวาร ... ในโสตทวาร .. ในฆานทวาร ... ใน
ชิวหาทวาร ... ในกายทวาร ... ในมโนทวาร เที่ยวไป ประพฤติ อยู่ เคลื่อนไหว
เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป เปรียบเหมือนขนไก่ หรือเส้นเอ็นที่
ใส่เข้าไปในไฟแล้ว ย่อมหัก งอ ม้วน ไม่คลี่ออก ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น พระเสขะ
7 จำพวก จึงตรัสเรียกว่า ผู้ประพฤติหลีกเร้น
คำว่า ของภิกษุ ได้แก่ ของภิกษุผู้เป็นกัลยาณปุถุชน หรือของภิกษุผู้เป็น
พระเสขะ รวมความว่า ของภิกษุผู้ประพฤติหลีกเร้น
คำว่า ใช้ที่นั่งอันสงัด อธิบายว่า ที่สำหรับนั่งของภิกษุ ตรัสเรียกว่า ที่นั่ง
ได้แก่ เตียง ตั่ง เบาะ เสื่อ แผ่นหนัง เครื่องปูลาดทำด้วยหญ้า เครื่องปูลาดทำ
ด้วยใบไม้ เครื่องปูลาดทำด้วยฟาง ที่นั่งนั้นว่าง สงัด เงียบจากการได้เห็นรูปไม่เป็น
ที่สบาย ... จากการได้ยินเสียงไม่เป็นที่สบาย ... จากการได้กลิ่นไม่เป็นที่สบาย ... จาก
การได้ลิ้มรสไม่เป็นที่สบาย ... จากการถูกต้องโผฏฐัพพะไม่เป็นที่สบาย ... ที่นั่งนั้นว่าง
สงัด เงียบจากกามคุณ 5 ไม่เป็นที่สบาย ผู้ใช้ คือ ใช้สอย เสพ เสพเป็นนิจ ซ่องเสพ
เสพเฉพาะที่นั่งอันสงัดนั้น รวมความว่า ใช้ที่นั่งอันสงัด
คำว่า ความสามัคคี ในคำว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่แสดงตน
ในภพของภิกษุ ... นั้นว่า เป็นความสามัคคี ได้แก่ สามัคคี 3 อย่าง คือ
1. คณสามัคคี
2. ธัมมสามัคคี
3. อนภินิพพัตติสามัคคี
คณสามัคคี เป็นอย่างไร
คือ แม้หากภิกษุทั้งหลายเป็นอันมาก พร้อมเพรียงกัน ชื่นชม ไม่วิวาทกัน
เป็นเหมือนน้ำกลมกลืนกับน้ำนม มองดูกันและกันด้วยสายตาที่รักกันอยู่ นี้ชื่อว่า
คณสามัคคี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :159 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 6. ชราสุตตนิทเทส
ธัมมสามัคคี เป็นอย่างไร
คือ สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7
อริยมรรคมีองค์ 8 ธรรมเหล่านั้นย่อมดำเนินไป ผ่องใส ตั้งมั่น หลุดพ้นไป โดยความ
เป็นอันเดียวกัน ธรรมเหล่านั้นไม่มีความวิวาทขัดแย้งกัน นี้ชื่อว่าธัมมสามัคคี
อนภินิพพัตติสามัคคี เป็นอย่างไร
คือ แม้หากภิกษุเป็นอันมาก ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ความ
พร่อง หรือความเต็มแห่งนิพพานธาตุของภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่ปรากฏ นี้ชื่อว่า
อนภินิพพัตติสามัคคี
คำว่า ในภพ อธิบายว่า นรกเป็นภพของสัตว์นรก กำเนิดเดรัจฉาน
เป็นภพของสัตว์ผู้เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน เปตวิสัยเป็นภพของสัตว์ผู้เกิดในเปตวิสัย
มนุษยโลกเป็นภพของมนุษย์ เทวโลกเป็นภพของหมู่เทวดา
คำว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่แสดงตนในภพของภิกษุ... นั้นว่า เป็น
ความสามัคคี อธิบายว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจง
อย่างนี้ว่า ภิกษุใด ไม่แสดงตนในนรกอันปกปิด ไม่แสดงตนในกำเนิดเดรัจฉาน ไม่
แสดงตนในเปตวิสัย ไม่แสดงตนในมนุษยโลก ไม่แสดงตนในเทวโลกอย่างนี้ การไม่
แสดงตนของภิกษุนั้นเป็นความสามัคคี คือ ข้อนี้ เป็นการปกปิด เป็นการเหมาะสม
เป็นการสมควร เป็นการอนุโลม รวมความว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่แสดงตน
ในภพของภิกษุ ... นั้นว่า เป็นความสามัคคี ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่แสดงตนในภพ
ของภิกษุผู้ประพฤติหลีกเร้น ใช้ที่นั่งอันสงัดนั้นว่า
เป็นความสามัคคี
[46] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
มุนีไม่อาศัยในสิ่งทั้งปวง ไม่ทำสัตว์สังขารไหนให้เป็นที่รัก
และไม่ทำสัตว์สังขารไหนให้ไม่เป็นที่รัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :160 }