เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 6. ชราสุตตนิทเทส
(พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า)
ภิกษุทั้งหลาย ผู้คดโกง แข็งกระด้าง
พูดพล่อย กรีดกราย มีมานะจัด มีจิตไม่มั่นคง
ย่อมไม่งอกงามในธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงแล้ว
(ส่วน)ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่คดโกง ไม่พูดพล่อย
เป็นนักปราชญ์ ไม่แข็งกระด้าง มีจิตมั่นคง
ย่อมงอกงามในธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงแล้ว1
คำว่า ผู้เป็นพุทธมามกะ ... ไม่พึงน้อมไปเพื่อความยึดถือว่าเป็นของเรา
อธิบายว่า ผู้เป็นพุทธมามกะละความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว
สลัดทิ้งความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว ไม่พึงน้อมไป คือ ไม่พึง
โน้มไปเพื่อความยึดถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ ไม่พึงเป็นผู้เอนไปในความยึดถือว่าเป็น
ของเรานั้น ไม่พึงเป็นผู้โอนไปในความยึดถือว่าเป็นของเรานั้น ไม่พึงเป็นผู้โน้ม
ไปในความยึดถือว่าเป็นของเรานั้น ไม่พึงเป็นผู้น้อมใจไปในความยึดถือว่าเป็นของ
เรานั้น ไม่พึงเป็นผู้มีความยึดถือว่าเป็นของเรานั้นเป็นใหญ่ รวมความว่า ผู้เป็น
พุทธมามกะ ... ไม่พึงน้อมไปเพื่อความยึดถือว่าเป็นของเรา ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสว่า
บุรุษย่อมสำคัญเบญจขันธ์ใดว่า นี้ของเรา
เบญจขันธ์นั้นบุรุษนั้นย่อมละไปเพราะความตาย
บัณฑิตผู้เป็นพุทธมามกะ รู้ชัดโทษนี้แล้ว
ไม่พึงน้อมไปเพื่อความยึดถือว่าเป็นของเรา
[42] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุรุษผู้ตื่นขึ้นแล้ว ย่อมไม่เห็นสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยความฝัน ฉันใด
ใคร ๆ ย่อมไม่เห็นชนผู้เป็นที่รัก ซึ่งตายจากไปแล้ว ฉันนั้น

เชิงอรรถ :
1 องฺ.จตุกฺก. 21/26/31, ขุ.อิติ. 25/108/327

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :152 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 6. ชราสุตตนิทเทส
ว่าด้วยสิ่งที่เกี่ยวข้องอุปมาเหมือนความฝัน
คำว่า สิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยความฝัน ฉันใด ได้แก่ ที่เกี่ยวข้อง คือ ที่มาปรากฏ
ที่มารวมกัน ที่มาประชุมกัน รวมความว่า สิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยความฝัน ฉันใด
คำว่า บุรุษผู้ตื่นขึ้นแล้ว ย่อมไม่เห็น อธิบายว่า บุรุษผู้ฝันเห็นดวงจันทร์
เห็นดวงอาทิตย์ เห็นมหาสมุทร เห็นขุนเขาสุเมรุ เห็นช้าง เห็นม้า เห็นรถ เห็น
ทหารราบ เห็นขบวนทัพ เห็นสวนที่น่ารื่นรมย์ เห็นป่าที่น่ารื่นรมย์ เห็นภูมิภาค
ที่น่ารื่นรมย์ เห็นสระที่น่ารื่นรมย์ เมื่อตื่นขึ้นแล้วก็ย่อมไม่เห็นอะไรเลย ฉันใด รวม
ความว่า บุรุษผู้ตื่นขึ้นแล้ว ย่อมไม่เห็น
คำว่า ฉันนั้น ในคำว่า ชนผู้เป็นที่รัก ... ฉันนั้น เป็นคำอุปไมยทำอุปมาให้
สมบูรณ์
คำว่า ชนผู้เป็นที่รัก ได้แก่ ชนผู้เป็นที่รัก คือ ผู้นับถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ มารดา
บิดา พี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว บุตร ธิดา มิตร อำมาตย์ หรือญาติสายโลหิต
รวมความว่า ชนผู้เป็นที่รัก ... ฉันนั้น
คำว่า ย่อมไม่เห็น ... ซึ่งตายจากไปแล้ว อธิบายว่า ผู้ที่ตายไปแล้ว ตรัส
เรียกว่า ผู้จากไปแล้ว ใคร ๆ ย่อมไม่เห็น คือ ย่อมไม่แลเห็น ไม่ประสบ ไม่พบ
ไม่ได้คืน ชนผู้เป็นที่รักซึ่งตายไปแล้ว รวมความว่า ย่อมไม่เห็น ... ซึ่งตายจากไปแล้ว
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุรุษผู้ตื่นขึ้นแล้ว ย่อมไม่เห็นสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยความฝัน ฉันใด
ใคร ๆ ย่อมไม่เห็นชนผู้เป็นที่รัก ซึ่งตายจากไปแล้ว ฉันนั้น
[43] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ชื่อของชนเหล่าใดที่กล่าวกันอยู่นี้
ชนเหล่านั้นยังเห็นกันอยู่บ้าง ยังได้ยินกันอยู่บ้าง
สัตว์เกิดจากไปแล้วเหลือไว้แต่ชื่อเท่านั้น เพื่อกล่าวขานกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :153 }