เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 6. ชราสุตตนิทเทส
รวมความว่า ผู้นั้นก็จะตายเพราะชราแน่แท้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง
ตรัสว่า
ชีวิตนี้น้อยนัก มนุษย์ย่อมตายภายใน 100 ปี
แม้หากผู้ใดจะมีชีวิตอยู่เกินไปกว่านั้น
ผู้นั้นก็จะตายเพราะชราแน่แท้
[40] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ชนทั้งหลาย ย่อมเศร้าโศกเพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา
เพราะความยึดถือที่เที่ยงแท้ไม่มีอยู่
ความพลัดพรากจากกันนี้ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
กุลบุตรเห็นดังนี้แล้ว ก็ไม่พึงครองเรือน

ว่าด้วยคนเศร้าโศกเพราะการยึดถือ
คำว่า ชนทั้งหลาย ในคำว่า ชนทั้งหลาย ย่อมเศร้าโศกเพราะวัตถุที่ยึดถือ
ว่าเป็นของเรา ได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร บรรพชิต เทวดา และมนุษย์
ทั้งหลาย
คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา 2 อย่าง
คือ (1) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา (2) ความยึดถือว่าเป็นของเรา
ด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่า
ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ1
ชนทั้งหลายผู้หวาดระแวงว่าวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา จักถูกแย่งชิงไป ย่อม
เศร้าโศกบ้าง เมื่อวัตถุนั้นกำลังถูกแย่งชิงไป ย่อมเศร้าโศกบ้าง เมื่อวัตถุนั้นถูก
แย่งชิงไปแล้ว ย่อมเศร้าโศกบ้าง ชนทั้งหลายผู้หวาดระแวงว่า วัตถุที่ตนยึดถือว่า
เป็นของเราจักแปรผันไป ย่อมเศร้าโศกบ้าง เมื่อวัตถุนั้นกำลังแปรผันไป ย่อมเศร้าโศก
บ้าง เมื่อวัตถุนั้นแปรผันไปแล้ว ย่อมเศร้าโศกบ้าง คือ ลำบากใจ คร่ำครวญ
ตีอกพร่ำเพ้อ ถึงความหลงใหล รวมความว่า ชนทั้งหลาย ย่อมเศร้าโศกเพราะวัตถุ
ที่ยึดถือว่าเป็นของเรา

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 12/58-59

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :147 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 6. ชราสุตตนิทเทส
คำว่า ความยึดถือ ในคำว่า เพราะความยึดถือที่เที่ยงแท้ไม่มีอยู่ ได้แก่
ความยึดถือ 2 อย่าง คือ (1) ความยึดถือด้วยอำนาจตัณหา (2) ความยึดถือด้วย
อำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความยึดถือด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าความยึดถือด้วยอำนาจ
ทิฏฐิ1
ความยึดถือด้วยอำนาจตัณหา เป็นภาวะไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัย
กันและกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความ
คลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา
แม้ความยึดถือด้วยอำนาจทิฏฐิ ก็เป็นภาวะไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น
อาศัยกันและกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
มีความคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา มีความแปรผันไปเป็น
ธรรมดา สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
"ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นความยึดถือ ที่เป็นของเที่ยง มั่นคง แน่แท้ มีความ
ไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่อย่างนั้นเสมอกับสิ่งที่ยึดถือว่าแน่แท้หรือไม่
ไม่เห็น พระพุทธเจ้าข้า
ดีละภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็มิได้พิจารณาเห็นความยึดถือ ที่เป็นของเที่ยง มั่นคง
แน่แท้ มีความไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่อย่างนั้นเสมอกับสิ่งที่ยึดถือว่า
แน่แท้"2
ความยึดถือ ที่เป็นของเที่ยง มั่นคง แน่แท้ มีความไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา
ย่อมไม่มี ไม่มีอยู่ คือ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ รวมความว่า เพราะความยึดถือที่
เที่ยงแท้ไม่มีอยู่
คำว่า ความพลัดพรากจากกันนี้ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง อธิบายว่า ความเป็น
ต่าง ๆ ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่น มีอยู่ ปรากฏ หาได้ สมจริงดังที่
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
"พอเถอะอานนท์ เธออย่าเศร้าโศก อย่าคร่ำครวญเลย เราพูดไว้ก่อนแล้วมิใช่
หรือว่า ความเป็นต่าง ๆ ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่นจากสิ่งที่รักใคร่ พอใจ
ทั้งหมด มีอยู่ อานนท์ สิ่งที่เกิดแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้นแล้ว จะต้องแตกสลายไป

เชิงอรรถ :
1 เทียบกับความในข้อ 12/58-59
2 ม.มู. 12/243/205

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :148 }