เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 6. ชราสุตตนิทเทส
คำว่า แม้หากผู้ใดจะมีชีวิตอยู่เกินไปกว่านั้น อธิบายว่า ผู้ใดอยู่ได้เกิน
100 ปี ผู้นั้นก็อยู่ได้อีก 1 ปีบ้าง ... 2 ปีบ้าง ... 3 ปีบ้าง ... 4 ปีบ้าง ... 5 ปีบ้าง ...
20 ปีบ้าง ... 30 ปีบ้าง ... ผู้นั้นก็อยู่ได้อีก 40 ปีบ้าง รวมความว่า แม้หากผู้ใด
จะมีชีวิตอยู่เกินไปกว่านั้น
คำว่า ผู้นั้นก็จะตายเพราะชราแน่แท้ อธิบายว่า เมื่อผู้ใดชรา คือ สูงอายุ
เป็นผู้เฒ่า ล่วงกาลมามาก ผ่านวัยมามาก มีฟันหัก ผมหงอก ผมบาง ศีรษะล้าน
หนังย่น ตัวตกกระ หลังโกง หลังค่อม ถือไม้เท้ายันกาย ผู้นั้นก็ย่อมเคลื่อน ตาย
สูญหาย สลายไปเพราะชรา ไม่มีความหลุดพ้นจากความตายไปได้
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)
สัตว์ที่เกิดมาแล้ว มีภัยจากความตายเป็นนิจ
เหมือนผลไม้สุกแล้ว มีภัยจากการหล่นไปในเวลาเช้า ฉะนั้น
ภาชนะดินที่ช่างหม้อทำไว้ทั้งหมดมีความแตกเป็นที่สุด ฉันใด
ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เป็นฉันนั้น
มนุษย์ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ โง่ และฉลาดทั้งหมด
ย่อมไปสู่อำนาจของความตาย มีความตายรออยู่ข้างหน้า
เมื่อมนุษย์เหล่านั้นผู้ถูกความตายครอบงำอยู่
กำลังจะไปจากโลกนี้สู่ปรโลก บิดาก็ปกป้องบุตรไม่ได้
หรือหมู่ญาติก็ปกป้องหมู่ญาติไม่ได้
เมื่อพวกญาติกำลังเพ่งมองดูอยู่
รำพันกันเป็นอันมากอยู่นั่นแหละว่า จงดูสัตว์แต่ละตน ๆ
ถูกความตายนำไป เหมือนโคถูกนำไปฆ่าฉะนั้น
สัตว์โลกถูกความแก่และความตายครอบงำอยู่อย่างนี้1

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/582-587/451

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :146 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 6. ชราสุตตนิทเทส
รวมความว่า ผู้นั้นก็จะตายเพราะชราแน่แท้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง
ตรัสว่า
ชีวิตนี้น้อยนัก มนุษย์ย่อมตายภายใน 100 ปี
แม้หากผู้ใดจะมีชีวิตอยู่เกินไปกว่านั้น
ผู้นั้นก็จะตายเพราะชราแน่แท้
[40] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ชนทั้งหลาย ย่อมเศร้าโศกเพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา
เพราะความยึดถือที่เที่ยงแท้ไม่มีอยู่
ความพลัดพรากจากกันนี้ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
กุลบุตรเห็นดังนี้แล้ว ก็ไม่พึงครองเรือน

ว่าด้วยคนเศร้าโศกเพราะการยึดถือ
คำว่า ชนทั้งหลาย ในคำว่า ชนทั้งหลาย ย่อมเศร้าโศกเพราะวัตถุที่ยึดถือ
ว่าเป็นของเรา ได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร บรรพชิต เทวดา และมนุษย์
ทั้งหลาย
คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา 2 อย่าง
คือ (1) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา (2) ความยึดถือว่าเป็นของเรา
ด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่า
ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ1
ชนทั้งหลายผู้หวาดระแวงว่าวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา จักถูกแย่งชิงไป ย่อม
เศร้าโศกบ้าง เมื่อวัตถุนั้นกำลังถูกแย่งชิงไป ย่อมเศร้าโศกบ้าง เมื่อวัตถุนั้นถูก
แย่งชิงไปแล้ว ย่อมเศร้าโศกบ้าง ชนทั้งหลายผู้หวาดระแวงว่า วัตถุที่ตนยึดถือว่า
เป็นของเราจักแปรผันไป ย่อมเศร้าโศกบ้าง เมื่อวัตถุนั้นกำลังแปรผันไป ย่อมเศร้าโศก
บ้าง เมื่อวัตถุนั้นแปรผันไปแล้ว ย่อมเศร้าโศกบ้าง คือ ลำบากใจ คร่ำครวญ
ตีอกพร่ำเพ้อ ถึงความหลงใหล รวมความว่า ชนทั้งหลาย ย่อมเศร้าโศกเพราะวัตถุ
ที่ยึดถือว่าเป็นของเรา

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 12/58-59

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :147 }