เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 6. ชราสุตตนิทเทส
ชีวิตเป็นของน้อย เพราะมีคุณค่าเพียงเล็กน้อย เป็นอย่างไร
คือ ชีวิตเกี่ยวเนื่องด้วยลมหายใจเข้า ชีวิตเกี่ยวเนื่องด้วยลมหายใจออก ชีวิต
เกี่ยวเนื่องด้วยลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ชีวิตเกี่ยวเนื่องด้วยมหาภูตรูป ชีวิต
เกี่ยวเนื่องด้วยอาหารที่กลืนกิน ชีวิตเกี่ยวเนื่องด้วยไฟธาตุ ชีวิตเกี่ยวเนื่องด้วย
วิญญาณ มูลเหตุ(กรัชกาย) ของสภาวธรรมเหล่านี้มีกำลังน้อย บุพพเหตุของ
สภาวธรรมเหล่านี้มีกำลังน้อย ปัจจัยทั้งหลายมีอารมณ์เป็นต้นมีกำลังน้อย
แดนเกิด(ตัณหา) มีกำลังน้อย ธรรมที่เกิดร่วมกันของสภาวธรรมเหล่านี้มีกำลังน้อย
ธรรมที่ประกอบกัน (อรูปธรรม)ของสภาวธรรมเหล่านี้มีกำลังน้อย ธรรมที่เกิด
พร้อมกันของสภาวธรรมเหล่านี้มีกำลังน้อย กิเลสเครื่องประกอบ(ตัณหา) มีกำลังน้อย
สภาวธรรมเหล่านี้แต่ละอย่างมีกำลังน้อยตลอดเวลา สภาวธรรมเหล่านี้แต่ละอย่าง
ไม่มั่นคง สภาวธรรมเหล่านี้ต่างก็ทำให้สภาวธรรมอื่นตกล่วงลงไป เพราะสภาว
ธรรมเหล่านี้ต่างก็ไม่มีความต้านทาน สภาวธรรมเหล่านี้ต่างก็ไม่ดำรงกันและกันอยู่ได้
แม้สภาวธรรมที่ทำให้ธรรมเหล่านี้เกิดก็ไม่มี
อนึ่ง ธรรมไร ๆ ก็มิได้เสื่อมไปเพราะธรรมไร ๆ
เพราะขันธ์เหล่านี้ พึงถึงความแตกดับไปโดยประการทั้งปวง
ขันธ์เหล่านี้ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยก่อน
แม้เหตุปัจจัยที่เกิดก่อนก็แตกดับไปแล้วในก่อน
ในกาลไหน ๆ ขันธ์ที่เกิดก่อนและที่เกิดภายหลัง
จึงไม่ได้เห็นกันและกัน
ชีวิตชื่อว่าเป็นของน้อย เพราะมีคุณค่าเพียงเล็กน้อย เป็นอย่างนี้
อนึ่ง เพราะเทียบกับชีวิตของเทวดาชั้นจาตุมหาราช ชีวิตของมนุษย์จึงน้อย คือ
เล็กน้อย นิดหน่อย ชั่วขณะ เร็วพลัน ประเดี๋ยวเดียว ตั้งอยู่ไม่นาน ดำรงอยู่ไม่นาน
เพราะเทียบกับชีวิตของเทวดาชั้นดาวดึงส์ ... เทวดาชั้นยามา ... เทวดาชั้นดุสิต ...
เทวดาชั้นนิมมานรดี ... เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ... เพราะเทียบเคียงกับชีวิตของ
เทวดาชั้นพรหมกายิกา(ผู้นับเนื่องอยู่ในหมู่พรหม) ชีวิตของมนุษย์จึงน้อย คือ เล็ก
น้อย นิดหน่อย ชั่วขณะ เร็วพลัน ประเดี๋ยวเดียว ตั้งอยู่ไม่นาน ดำรงอยู่ไม่นาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :144 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 6. ชราสุตตนิทเทส
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า "ภิกษุทั้งหลาย อายุของมนุษย์น้อย
จำต้องไปสู่ปรโลก ต้องประสบกับความตายที่เข้าใจกันอยู่ ควรทำกุศล ประพฤติ
พรหมจรรย์ ผู้ที่เกิดมาแล้วไม่ตายไม่มี ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดมีชีวิตยืนนาน ผู้นั้นก็อยู่
ได้เพียง 100 ปี หรืออยู่ได้เกินกว่านั้นก็มีน้อย"
(พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า)
มนุษย์มีอายุน้อย บุคคลผู้ฉลาดพึงดูหมิ่นชีวิตที่น้อยนั้น
พึงเร่งประพฤติธรรมเหมือนคนถูกไฟไหม้ศีรษะ ฉะนั้น
เพราะความตายจะไม่มาถึงไม่มี1
วันคืนล่วงเลยไป ชีวิตก็ใกล้หมดสิ้นไป
อายุของสัตว์ทั้งหลายก็หมดสิ้นไป
เหมือนน้ำในแม่น้ำน้อยจะแห้งไป ฉะนั้น2
รวมความว่า ชีวิตนี้น้อยนัก
คำว่า มนุษย์ย่อมตายภายใน 100 ปี อธิบายว่า มนุษย์ย่อมเคลื่อน ตาย
สูญหาย สลายไป ในขณะที่เป็นกลละ(น้ำใส)บ้าง ... ในขณะที่เป็นอัพพุทะ(น้ำล้าง
เนื้อ)บ้าง ... ในขณะที่เป็นเปสิ(ชิ้นเนื้อ)บ้าง ... ในขณะที่เป็นฆนะ(ก้อนเนื้อ)บ้าง ...
ในขณะที่เป็นปัญจสาขา(5 ปุ่ม คือมือ 2 เท้า 2 ศีรษะ 1)บ้าง ขณะคลอด
ย่อมเคลื่อน ตาย สูญหาย สลายไปบ้าง ย่อมเคลื่อน ตาย สูญหาย สลายไป
ในเรือนคลอดบ้าง มีอายุเพียงครึ่งเดือน ย่อมเคลื่อน ตาย สูญหาย สลายไปบ้าง
มีอายุ 1 เดือน ... มีอายุ 2 เดือน ... มีอายุ 3 เดือน ... มีอายุ 4 เดือน ...
มีอายุ 5 เดือน ... มีอายุ 6 เดือน ... มีอายุ 7 เดือน ... มีอายุ 8 เดือน ...
มีอายุ 9 เดือน ... มีอายุ 10 เดือน ... มีอายุ 1 ปี ... มีอายุ 2 ปี ... มีอายุ 3 ปี ...
มีอายุ 4 ปี ... มีอายุ 5 ปี ... มีอายุ 6 ปี ... มีอายุ 7 ปี ... มีอายุ 8 ปี ... มีอายุ 9
ปี ... มีอายุ 10 ปี ... มีอายุ 20 ปี ... มีอายุ 30 ปี ... มีอายุ 40 ปี ... มีอายุ 50 ปี
... มีอายุ 60 ปี ... มีอายุ 70 ปี ... มีอายุ 80 ปี ... มีอายุ 90 ปี ย่อมเคลื่อน
ตาย สูญหาย สลายไปบ้าง รวมความว่า มนุษย์ย่อมตายภายใน 100 ปี

เชิงอรรถ :
1 สํ.ส. 15/145/130
2 สํ.ส. 15/146/131

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :145 }