เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 1. กามสุตตนิทเทส
คำว่า ผู้นั้นมีสติ ล่วงพ้นตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกานี้ในโลก อธิบายว่า ผู้มีสติ
ย่อมข้าม ข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกานี้ในโลก รวม
ความว่า ผู้นั้นมีสติ ล่วงพ้นตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกานี้ในโลก ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสว่า
ผู้ใดละกามได้ เหมือนคนเดินเลี่ยงหัวงู
ผู้นั้นมีสติ ล่วงพ้นตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกานี้ในโลก
[4] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
นรชนใดปรารถนาเนือง ๆ ซึ่งไร่นา ที่ดิน เงิน
โค ม้า ทาส บุรุษ สตรี พวกพ้อง หรือกามเป็นอันมาก
คำว่า ไร่นา ในคำว่า ไร่นา ที่ดิน เงิน ได้แก่ นาข้าวสาลี นาข้าว ไร่ถั่วเขียว
ไร่ถั่วราชมาส นาข้าวเหนียว นาข้าวละมาน ไร่งา
คำว่า ที่ดิน ได้แก่ ที่ปลูกเรือน ที่สร้างยุ้งฉาง ที่หน้าเรือน ที่หลังเรือน ที่สวน
ที่อยู่
คำว่า เงิน ได้แก่ เหรียญกษาปณ์ ตรัสเรียกว่า เงิน รวมความว่า ไร่นา ที่ดิน
เงิน
คำว่า โค ม้า ทาส บุรุษ มีอธิบายดังนี้ โคทั้งหลายตรัสเรียกว่า โค
สัตว์ทั้งหลายมีปศุสัตว์เป็นต้นตรัสเรียกว่า ม้า
คำว่า ทาส ได้แก่ ทาส 4 จำพวก คือ
1. ทาสที่เกิดภายใน(ทาสในเรือนเบี้ย)
2. ทาสที่ซื้อมาด้วยทรัพย์(ทาสสินไถ่)
3. ผู้สมัครเป็นทาสเอง
4. เชลยที่ตกเป็นทาส
(สมจริงดังที่วิธูรบัณฑิตโพธิสัตว์กล่าวไว้ว่า)
คนบางพวกเป็นทาสโดยกำเนิด
บางพวกเป็นทาสที่เขาซื้อมาด้วยทรัพย์
บางพวกสมัครเข้าเป็นทาสเอง
บางพวกตกเป็นเชลยจึงยอมเป็นทาส1

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ชา. 28/1445/279

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :14 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 1. กามสุตตนิทเทส
คำว่า บุรุษ ได้แก่ บุรุษ 3 จำพวก คือ
1. ลูกจ้าง
2. กรรมกร
3. พวกอยู่อาศัย รวมความว่า โค ม้า ทาส บุรุษ
คำว่า สตรี พวกพ้อง หรือกามเป็นอันมาก มีอธิบายดังนี้ หญิงที่มีผู้คุ้มครอง
ตรัสเรียกว่า สตรี
คำว่า พวกพ้อง ได้แก่ พวกพ้อง 4 จำพวก คือ
1. พวกพ้องโดยความเป็นญาติ
2. พวกพ้องโดยสืบตระกูล
3. พวกพ้องโดยการร่วมเรียนมนต์
4. พวกพ้องโดยการร่วมเรียนศิลปวิทยา
คำว่า กามเป็นอันมาก อธิบายว่า กามหลายอย่าง กามหลายอย่างเหล่านี้
คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าชอบใจ รวมความว่า สตรี พวกพ้อง หรือ
กามเป็นอันมาก
คำว่า ใด ในคำว่า นรชนใดปรารถนาเนือง ๆ อธิบายว่า ผู้ใด ผู้เช่นใด
ผู้ขวนขวายอย่างใด ผู้ตั้งใจอย่างใด ผู้มีประการอย่างใด ผู้เข้าถึงฐานะอย่างใด
ผู้ประกอบด้วยธรรมใด จะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต
เทวดา หรือมนุษย์ก็ตาม
คำว่า นรชน ได้แก่ สัตว์ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด
ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์
คำว่า ปรารถนาเนือง ๆ ได้แก่ ปรารถนา ปรารถนาเสมอ ๆ ปรารถนาทั่วไป
ปรารถนายิ่ง ๆ ขึ้นไป ในวัตถุกามเพราะกิเลสกาม รวมความว่า นรชนใดปรารถนา
เนือง ๆ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
นรชนใดปรารถนาเนือง ๆ ซึ่งไร่นา ที่ดิน เงิน
โค ม้า ทาส บุรุษ สตรี พวกพ้อง หรือกามเป็นอันมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :15 }