เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 4. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า สัตบุรุษเหล่านั้นไม่กล่าวว่า เป็นความหมดจดสุดโต่ง อธิบายว่า
สัตบุรุษ ไม่กล่าว คือ ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจง ความหมดจดสุดโต่ง คือ
ความหมดจดโดยการเวียนว่าย ความเห็นว่าการกระทำไม่มีผล มีวาทะว่าเที่ยง
รวมความว่า สัตบุรุษเหล่านั้นไม่กล่าวว่า เป็นความหมดจดสุดโต่ง
คำว่า สลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น ที่ร้อยรัดไว้แล้ว อธิบายว่า
คำว่า กิเลสเครื่องร้อยรัด ได้แก่ กิเลสเครื่องร้อยรัด 4 อย่าง คือ
1. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออภิชฌา
2. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือพยาบาท
3. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือสีลัพพตปรามาส
4. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือความถือมั่นว่านี้เท่านั้นจริง
ความกำหนัดในทิฏฐิของตน ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออภิชฌา
ความอาฆาต ความไม่พอใจในวาทะของผู้อื่น ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือ
พยาบาท
ความยึดมั่นศีล วัตรหรือศีลวัตรของตน ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือ
สีลัพพตปรามาส
ทิฏฐิของตน ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออิทังสัจจาภินิเวส
เพราะเหตุไร จึงเรียกว่า กิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น เพราะสัตว์
ทั้งหลาย ย่อมยึดถือ เข้าไปยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร
... วิญญาณ ... คติ ... การถือกำเนิด ... ปฏิสนธิ ... ภพ เพราะสัตว์ทั้งหลาย ย่อมยึดถือ
เข้าไปยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่น สังสารวัฏ ด้วยกิเลสเครื่องร้อยรัดเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น
จึงเรียกว่า กิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น
คำว่า สลัด ได้แก่ สละ หรือสลัดกิเลสเครื่องร้อยรัด อีกนัยหนึ่ง สัตบุรุษแก้
หรือ สลัดกิเลสเครื่องร้อยรัด คือกิเลสเครื่องผูกพัน ที่ร้อยรัด รัดรึง ข้อง ติด
เกี่ยว เกี่ยวพัน เกาะติด ติดแน่นแล้ว อธิบายว่า สัตบุรุษ สละ หรือสลัดกิเลส
เครื่องร้อยรัด เหมือนคนทำการปลดปล่อยวอ รถ เกวียน หรือ รถมีเครื่องประดับ
ให้เคลื่อนที่ไปได้ ฉะนั้น


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :119 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 4. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง สัตบุรุษ แก้ หรือสลัดกิเลสเครื่องรัอยรัด คือกิเลสเครื่องผูกพัน
ที่ร้อยรัด รัดรึง ข้อง ติด เกี่ยว เกี่ยวพัน เกาะติด ติดแน่นแล้ว รวมความว่า สลัด
กิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น ที่ร้อยรัดไว้แล้ว
คำว่า ไม่ก่อความหวังในที่ไหน ๆ ในโลก อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า
ความหวัง คือ ความกำหนัด กำหนัดนัก ... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ1
คำว่า ไม่ก่อความหวัง ได้แก่ ไม่ก่อ คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้บังเกิด
ไม่ให้บังเกิดขึ้นซึ่งความหวัง
คำว่า ในที่ไหน ๆ ได้แก่ ในที่ไหน คือ ที่ไหน ๆ ที่ไร ๆ ภายใน ภายนอก
หรือทั้งภายในและภายนอก
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ... อายตนโลก รวมความว่า ไม่ก่อ
ความหวังในที่ไหน ๆ ในโลก ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู
สัตบุรุษเหล่านั้น ไม่กล่าวว่า เป็นความหมดจดสุดโต่ง
สลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น ที่ร้อยรัดไว้แล้ว
ไม่ก่อความหวังในที่ไหน ๆ ในโลก
[30] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
พระอรหันต์เป็นผู้ไปพ้นเขตแดนแล้ว เป็นพราหมณ์
เพราะรู้และเห็น พระอรหันต์นั้น จึงไม่มีความถือมั่น
พระอรหันต์ไม่มีความกำหนัดในกามคุณเป็นที่กำหนัด
ไม่กำหนัดในสมาบัติเป็นที่คลายกำหนัด
พระอรหันต์นั้น จึงไม่มีความถือมั่นว่า ยอดเยี่ยมในโลกนี้

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 3/10-11

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :120 }