เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 4. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
[29] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู
สัตบุรุษเหล่านั้น ไม่กล่าวว่า เป็นความหมดจดสุดโต่ง
สลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น ที่ร้อยรัดไว้แล้ว
ไม่ก่อความหวังในที่ไหน ๆ ในโลก

ว่าด้วยคุณลักษณะของสัตบุรุษ
คำว่า ย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู อธิบายว่า
คำว่า กำหนด ได้แก่ การกำหนด 2 อย่าง คือ (1) การกำหนดด้วยอำนาจ
ตัณหา (2) การกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา ...
นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ
สัตบุรุษเหล่านั้นละการกำหนดด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งการกำหนด
ด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการ
กำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว สัตบุรุษ จึงไม่กำหนด คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น
ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้น ซึ่งการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา หรือการกำหนดด้วย
อำนาจทิฏฐิ รวมความว่า ย่อมไม่กำหนด
คำว่า ไม่เชิดชู อธิบายว่า
คำว่า เชิดชู ได้แก่ การเชิดชู 2 อย่าง คือ (1) การเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา
(2) การเชิดชูด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าการ
เชิดชูด้วยอำนาจทิฏฐิ
สัตบุรุษเหล่านั้นละการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งการเชิดชูด้วย
อำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการเชิดชูด้วย
อำนาจทิฏฐิได้แล้ว สัตบุรุษก็ไม่เที่ยวเชิดชูตัณหาหรือทิฏฐิไว้ คือ ไม่มีตัณหาเป็น
ธงชัย ไม่มีตัณหาเป็นยอดธง ไม่มีตัณหาเป็นใหญ่ ไม่มีทิฏฐิเป็นธงชัย ไม่มีทิฏฐิเป็น
ยอดธง ไม่มีทิฏฐิเป็นใหญ่ คือไม่ได้ถูกตัณหาหรือทิฏฐิครอบงำเที่ยวไปอยู่ รวม
ความว่า ย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :118 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 4. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า สัตบุรุษเหล่านั้นไม่กล่าวว่า เป็นความหมดจดสุดโต่ง อธิบายว่า
สัตบุรุษ ไม่กล่าว คือ ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจง ความหมดจดสุดโต่ง คือ
ความหมดจดโดยการเวียนว่าย ความเห็นว่าการกระทำไม่มีผล มีวาทะว่าเที่ยง
รวมความว่า สัตบุรุษเหล่านั้นไม่กล่าวว่า เป็นความหมดจดสุดโต่ง
คำว่า สลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น ที่ร้อยรัดไว้แล้ว อธิบายว่า
คำว่า กิเลสเครื่องร้อยรัด ได้แก่ กิเลสเครื่องร้อยรัด 4 อย่าง คือ
1. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออภิชฌา
2. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือพยาบาท
3. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือสีลัพพตปรามาส
4. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือความถือมั่นว่านี้เท่านั้นจริง
ความกำหนัดในทิฏฐิของตน ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออภิชฌา
ความอาฆาต ความไม่พอใจในวาทะของผู้อื่น ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือ
พยาบาท
ความยึดมั่นศีล วัตรหรือศีลวัตรของตน ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือ
สีลัพพตปรามาส
ทิฏฐิของตน ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออิทังสัจจาภินิเวส
เพราะเหตุไร จึงเรียกว่า กิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น เพราะสัตว์
ทั้งหลาย ย่อมยึดถือ เข้าไปยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร
... วิญญาณ ... คติ ... การถือกำเนิด ... ปฏิสนธิ ... ภพ เพราะสัตว์ทั้งหลาย ย่อมยึดถือ
เข้าไปยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่น สังสารวัฏ ด้วยกิเลสเครื่องร้อยรัดเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น
จึงเรียกว่า กิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น
คำว่า สลัด ได้แก่ สละ หรือสลัดกิเลสเครื่องร้อยรัด อีกนัยหนึ่ง สัตบุรุษแก้
หรือ สลัดกิเลสเครื่องร้อยรัด คือกิเลสเครื่องผูกพัน ที่ร้อยรัด รัดรึง ข้อง ติด
เกี่ยว เกี่ยวพัน เกาะติด ติดแน่นแล้ว อธิบายว่า สัตบุรุษ สละ หรือสลัดกิเลส
เครื่องร้อยรัด เหมือนคนทำการปลดปล่อยวอ รถ เกวียน หรือ รถมีเครื่องประดับ
ให้เคลื่อนที่ไปได้ ฉะนั้น


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :119 }