เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 4. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า ผู้ประพฤติ ได้แก่ ผู้ประพฤติ คือ เที่ยวไป อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป
เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า ผู้มีปัญญานั้น ผู้เห็น
ผู้ประพฤติเปิดเผย
คำว่า ใคร ๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนด ... ด้วยเหตุอะไรเล่า อธิบายว่า
คำว่า กำหนด ได้แก่ การกำหนด 2 อย่าง คือ (1) การกำหนดด้วยอำนาจ
ตัณหา (2) การกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา ...
นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ
ผู้มีปัญญานั้นละการกำหนดด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งการกำหนดด้วย
อำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการกำหนด
ด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว ใคร ๆ จะพึงกำหนดผู้มีปัญญานั้นด้วยราคะ โทสะ โมหะ
มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะ วิจิกิจฉา อนุสัย อะไรเล่าว่า "เป็นผู้กำหนัด เป็นผู้ขัดเคือง
เป็นผู้หลง เป็นผู้ยึดติด เป็นผู้ยึดมั่น เป็นผู้ฟุ้งซ่าน เป็นผู้ลังเล หรือเป็นผู้ตกอยู่ใน
พลังกิเลส"
ผู้มีปัญญานั้นละอภิสังขารเหล่านั้นได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละอภิสังขารได้แล้ว
ใคร ๆ จะพึงกำหนดคติด้วยเหตุอะไรเล่าว่า "เป็นผู้เกิดในนรก เป็นผู้เกิดในกำเนิด
เดรัจฉาน เป็นผู้เกิดในเปตวิสัย เป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นผู้มีรูป เป็นผู้ไม่มีรูป
เป็นผู้มีสัญญา เป็นผู้ไม่มีสัญญา หรือว่าเป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่"
ใคร ๆ จะพึงกำหนด คือ กำหนดรู้ ถึงการกำหนดรู้ด้วยเหตุ ปัจจัย และการณ์ใด
เหตุ ปัจจัย และการณ์นั้นไม่มี
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก รวมความว่า ใคร ๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนด ... ด้วยเหตุอะไรได้เล่า ด้วย
เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ผู้มีปัญญานั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรมทั้งปวง
คือ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง
ใคร ๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนดผู้มีปัญญานั้น
ผู้เห็น ผู้ประพฤติเปิดเผย ด้วยเหตุอะไรเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :117 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 4. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
[29] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู
สัตบุรุษเหล่านั้น ไม่กล่าวว่า เป็นความหมดจดสุดโต่ง
สลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น ที่ร้อยรัดไว้แล้ว
ไม่ก่อความหวังในที่ไหน ๆ ในโลก

ว่าด้วยคุณลักษณะของสัตบุรุษ
คำว่า ย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู อธิบายว่า
คำว่า กำหนด ได้แก่ การกำหนด 2 อย่าง คือ (1) การกำหนดด้วยอำนาจ
ตัณหา (2) การกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา ...
นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ
สัตบุรุษเหล่านั้นละการกำหนดด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งการกำหนด
ด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการ
กำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว สัตบุรุษ จึงไม่กำหนด คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น
ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้น ซึ่งการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา หรือการกำหนดด้วย
อำนาจทิฏฐิ รวมความว่า ย่อมไม่กำหนด
คำว่า ไม่เชิดชู อธิบายว่า
คำว่า เชิดชู ได้แก่ การเชิดชู 2 อย่าง คือ (1) การเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา
(2) การเชิดชูด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าการ
เชิดชูด้วยอำนาจทิฏฐิ
สัตบุรุษเหล่านั้นละการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งการเชิดชูด้วย
อำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการเชิดชูด้วย
อำนาจทิฏฐิได้แล้ว สัตบุรุษก็ไม่เที่ยวเชิดชูตัณหาหรือทิฏฐิไว้ คือ ไม่มีตัณหาเป็น
ธงชัย ไม่มีตัณหาเป็นยอดธง ไม่มีตัณหาเป็นใหญ่ ไม่มีทิฏฐิเป็นธงชัย ไม่มีทิฏฐิเป็น
ยอดธง ไม่มีทิฏฐิเป็นใหญ่ คือไม่ได้ถูกตัณหาหรือทิฏฐิครอบงำเที่ยวไปอยู่ รวม
ความว่า ย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :118 }