เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 4. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถือการเห็นรูปชนิดไหนว่า ไม่เป็นมงคล
สมณพราหมณ์เหล่านั้น เห็นลอมฟาง หม้อเปรียง หม้อเปล่า นักฟ้อน
สมณะเปลือย ลา ยานเทียมด้วยลา ยานเทียมด้วยสัตว์พาหนะตัวเดียว คนตาบอด
คนง่อย คนแคระ คนเปลี้ย คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ก็พากันถือการเห็นรูปเห็นปานนี้ว่า
ไม่เป็นมงคล
สมณพราหมณ์เหล่านี้นั้น ชื่อว่าถือความหมดจดด้วยการเห็น สมณพราหมณ์
เหล่านั้นถือความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป
ความหลุดพ้นไป ด้วยรูปที่เห็นแล้ว
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ถือความหมดจดด้วยเสียงที่ได้ยิน สมณพราหมณ์
เหล่านั้น ถือการได้ยินเสียงบางอย่างว่า เป็นมงคล ถือการได้ยินเสียงบางอย่างว่า
ไม่เป็นมงคล
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถือการได้ยินเสียงอย่างไหนว่า เป็นมงคล
สมณพราหมณ์เหล่านั้นลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ได้ยินเสียงที่สมมติว่าเป็นมงคลยิ่งว่า
เจริญแล้ว กำลังเจริญ เต็ม ขาว ไม่เศร้าโศก ใจดี ฤกษ์ดี มงคลดี มีสิริ หรือว่าเจริญศรี
ก็พากันถือการได้ยินเสียงเห็นปานนี้ว่า เป็นมงคล
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถือการได้ยินเสียงอย่างไหนว่า ไม่เป็นมงคล
สมณพราหมณ์เหล่านั้นลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ได้ยินเสียงว่าคนตาบอด คนง่อย
คนแคระ คนเปลี้ย คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ถูกตัด ถูกทุบ ถูกไฟไหม้ ของหาย หรือ
ว่าไม่มี ก็พากันถือการได้ยินเสียงเห็นปานนั้นว่า ไม่เป็นมงคล สมณพราหมณ์เหล่า
นี้นั้น ชื่อว่าถือความหมดจดด้วยการได้ยินเสียง สมณพราหมณ์เหล่านั้นถือความ
หมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป
ด้วยการได้ยินเสียง
ว่าด้วยความหมดจดด้วยศีลและวัตร
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ถือความหมดจดด้วยศีล สมณพราหมณ์เหล่านั้น
ถือความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความ
หลุดพ้นไป ด้วยเหตุเพียงศีล คือ ด้วยเหตุเพียงความสำรวม ด้วยเหตุเพียงความ
สังวร ด้วยเหตุเพียงความไม่ละเมิด


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :106 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 4. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
ปริพาชกผู้เป็นบุตรแห่งนางปริพาชิกาชื่อสมณมุณฑิกา กล่าวอย่างนี้ว่า
"ช่างไม้เอ๋ย เราบัญญัติบุรุษบุคคล ผู้ประกอบด้วยธรรม 4 ประการว่า เป็นผู้มีกุศล
เพียบพร้อม มีกุศลยอดเยี่ยม บรรลุถึงอรหัตตผลอันอุดมที่ควรบรรลุ เป็นสมณะ
ไม่มีใครสู้ได้ ธรรม 4 ประการ อะไรบ้าง คือ
ช่างไม้เอ๋ย บุคคลเช่นนั้นในโลกนี้
1. ย่อมไม่ทำกรรมชั่วช้าทางกาย 2. ไม่กล่าววาจาชั่วช้า
3. ไม่ดำริความดำริชั่วช้า 4. ไม่ประกอบอาชีพชั่วช้า
ช่างไม้เอ๋ย เราบัญญัติบุรุษบุคคล ผู้ประกอบด้วยธรรม 4 ประการเหล่านี้แลว่า
เป็นผู้มีกุศลเพียบพร้อม มีกุศลยอดเยี่ยม ผู้บรรลุถึงอรหัตตผลอันอุดมที่ควรบรรลุ
เป็นสมณะ ไม่มีใครสู้ได้1
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ถือความหมดจดด้วยศีลอย่างนี้แหละ สมณพราหมณ์
เหล่านั้นถือความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป
ความหลุดพ้นไปด้วยเหตุเพียงศีล ด้วยเหตุเพียงความสำรวม ด้วยเหตุเพียงความ
สังวร ด้วยเหตุเพียงความไม่ล่วงละเมิด
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ถือความหมดจดด้วยวัตร สมณพราหมณ์เหล่านั้น
เป็นผู้ประพฤติวัตรเยี่ยงช้างบ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงม้าบ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงโคบ้าง
ประพฤติวัตรเยี่ยงสุนัขบ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงกาบ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงท้าววาสุเทพ
บ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงพลเทพบ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงปุณณภัทรบ้าง ประพฤติวัตร
เยี่ยงมณีภัทรบ้าง ประพฤติวัตรคือการบูชาไฟบ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงนาคบ้าง
ประพฤติวัตรเยี่ยงครุฑบ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงยักษ์บ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงอสูรบ้าง
ประพฤติวัตรเยี่ยงคนธรรพ์บ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงท้าวมหาราชบ้าง ประพฤติวัตร
เยี่ยงพระจันทร์บ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงพระอาทิตย์บ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงพระอินทร์
บ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงพระพรหมบ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงเทพบ้าง ประพฤติวัตรคือ
การไหว้ทิศบ้าง สมณพราหมณ์เหล่านี้นั้น ชื่อว่าผู้ถือความหมดจดด้วยวัตร สมณ-
พราหมณ์เหล่านั้นถือความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป
ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปด้วยวัตร

เชิงอรรถ :
1 ม.ม. 13/261/235

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :107 }