เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 4. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
ผู้พูดอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ถ้าความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น
หรือถ้านรชนนั้นละทุกข์ได้เพราะญาณ
นรชนผู้ยังมีอุปธินั้น ย่อมหมดจดเพราะมรรคอื่น(ก็ได้)
เพราะว่าทิฏฐิย่อมบ่งบอกถึงนรชนนั้นผู้พูดอย่างนั้น
[25] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจดในรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยิน ศีลวัตร หรืออารมณ์ที่รับรู้โดยมรรคอื่น
พราหมณ์นั้นผู้ไม่เข้าไปติดในบุญและบาป ละตนได้
เรียกว่า ผู้ไม่ทำเพิ่มเติมในโลกนี้
คำว่า ไม่ ในคำว่า พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจดในรูปที่เห็น เสียงที่
ได้ยิน ศีล วัตร หรืออารมณ์ที่รับรู้โดยมรรคอื่น เป็นคำปฏิเสธ
คำว่า พราหมณ์ อธิบายว่า ที่ชื่อว่าพราหมณ์ เพราะลอยธรรม 7 ประการ
ได้แล้ว คือ
1. ลอยสักกายทิฏฐิได้แล้ว
2. ลอยวิจิกิจฉาได้แล้ว
3. ลอยสีลัพพตปรามาสได้แล้ว
4. ลอยราคะได้แล้ว
5. ลอยโทสะได้แล้ว
6. ลอยโมหะได้แล้ว
7. ลอยมานะได้แล้ว
คือ พราหมณ์ลอยบาปอกุศลธรรมซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่
มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะ ต่อไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :104 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 4. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า สภิยะ)
บุคคลผู้ลอยบาปทั้งปวงได้แล้ว
เป็นผู้ปราศจากมลทิน เป็นผู้ประเสริฐ
มีจิตตั้งมั่นด้วยสมาธิ ดำรงตนมั่นคง
ข้ามพ้นสังสารวัฏ เป็นผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้มั่นคง
บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่าเป็นพราหมณ์1

ว่าด้วยความเชื่อถือว่า เป็นมงคล ไม่เป็นมงคล
คำว่า พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจด ... โดยมรรคอื่น อธิบายว่า
พราหมณ์ไม่กล่าว คือ ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงความหมดจด คือ ความ
สะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป โดยมรรคอื่น
คือ มรรคที่ไม่หมดจด ปฏิปทาที่ผิด ทางที่มิใช่นำออกจากทุกข์ นอกจากสติปัฏฐาน
สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ อริยมรรคมีองค์ 8 รวมความว่า
พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจด ... โดยมรรคอื่น
คำว่า ในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ศีล วัตร หรืออารมณ์ที่รับรู้ อธิบายว่า
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งถือความหมดจดด้วยการเห็น สมณพราหมณ์เหล่านั้นถือ
การเห็นรูปบางอย่างว่า เป็นมงคล ถือการเห็นรูปบางอย่างว่า ไม่เป็นมงคล
สมณพราหมณ์เหล่านั้นถือการเห็นรูปชนิดไหนว่า เป็นมงคล
สมณพราหมณ์เหล่านั้นลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ เห็นรูปที่สมมติว่า เป็นมงคลยิ่ง คือ
เห็นนกแอ่นลม ผลมะตูมอ่อนเกิดในบุษยฤกษ์2 หญิงมีครรภ์ เด็กเล็กที่ขี่คอคนไป
หม้อมีน้ำเต็ม ปลาตะเพียนแดง ม้าอาชาไนย รถเทียมม้าอาชาไนย โคผู้ โคแดง
ก็พากันถือการเห็นรูปเห็นปานนี้ว่า เป็นมงคล

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/525/436
2 บุษยฤกษ์ คือชื่อของดาวฤกษ์บุษยะ มี 5 ดวง (1) ดาวปุยฝ้าย (2) ดาวพวงดอกไม้ (3) ดาวดอกบัว
(4) ดาวโลง (5) ดาวสมอสำเภา หรือดาวสิธยะ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2525, หน้า 483)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :105 }