เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 3. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยความเห็นว่ามีตนและไม่มีตน
คำว่า ความเห็นว่ามีตน ในคำว่า เพราะความเห็นว่ามีตน ความเห็นว่า
ไม่มีตน ไม่มีแก่ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น ได้แก่ ความตามเห็นว่ามีตัวตน ไม่มี
คำว่า ความเห็นว่าไม่มีตน ได้แก่ ความเห็นว่าขาดสูญ ไม่มี
คำว่า ความเห็นว่ามีตน ได้แก่ สิ่งที่ถือไม่มี
คำว่า ความเห็นว่าไม่มีตน อธิบายว่า สิ่งที่ควรปล่อย ไม่มี ผู้ใดมีสิ่งที่ถือไว้
ผู้นั้นก็มีสิ่งที่ควรปล่อย ผู้ใดมีสิ่งที่ควรปล่อย ผู้นั้นก็มีสิ่งที่ถือไว้ พระอรหันต์ก้าวพ้น
การถือ และการปล่อย ล่วงพ้นความเจริญและความเสื่อมได้แล้ว พระอรหันต์นั้นอยู่
ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรมแล้ว ผ่านทางไกลได้แล้ว ถึงทิศ(นิพพาน)แล้ว
ไม่มีการเวียนเกิด เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก รวมความว่า เพราะความเห็นว่ามีตน
ความเห็นว่าไม่มีตน ไม่มีแก่ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น
คำว่า ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น สลัดแล้วซึ่งทิฏฐิทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละ
อธิบายว่า ทิฏฐิ 62 ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้นละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบ
ได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้ไม่มีความถือ
มั่นนั้นชื่อว่า สลัด คือ กำจัด ขจัด ขจัดออก ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึง
ความไม่มีอีกซึ่งทิฏฐิทั้งปวงในอัตภาพนี้ รวมความว่า ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น สลัด
แล้วซึ่งทิฏฐิทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
เพราะว่าผู้มีความถือมั่นย่อมเข้าถึงวาทะในธรรมทั้งหลาย
จะพึงกล่าวคำติเตียนผู้ไม่มีความถือมั่น ด้วยเหตุอะไรเล่า
เพราะความเห็นว่ามีตน ความเห็นว่าไม่มีตน
ไม่มีแก่ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น
ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น สลัดแล้วซึ่งทิฏฐิทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละ
ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทสที่ 3 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :100 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 4. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
4. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส1
อธิบายสุทธัฏฐกสูตร
ว่าด้วยผู้พิจารณาเห็นความหมดจด
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายสุทธัฏฐกสูตร ดังต่อไปนี้
[23] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เราเห็นนรชนผู้หมดจดว่า เป็นผู้ไม่มีโรคอย่างยิ่ง
ความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น
บุคคลเมื่อรู้จริงอย่างนี้ ก็รู้แล้วว่าความเห็นนี้ยอดเยี่ยม
จึงเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นความหมดจด
เพราะฉะนั้น ย่อมเชื่อว่าความเห็นนั้นเป็นญาณ
คำว่า เราเห็นนรชนผู้หมดจด ในคำว่า เราเห็นนรชนผู้หมดจดว่า เป็นผู้
ไม่มีโรคอย่างยิ่ง อธิบายว่า เราเห็น คือ แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณาดู
นรชนผู้หมดจด
คำว่า เป็นผู้ไม่มีโรคอย่างยิ่ง ได้แก่ ถึงความปลอดโรค ถึงธรรมอันเกษม
ถึงธรรมเครื่องป้องกัน ถึงธรรมเป็นที่ปกป้อง ถึงธรรมเป็นที่พึ่ง ถึงธรรมเป็นที่ไปใน
เบื้องหน้า ถึงความปลอดภัย ถึงธรรมที่ไม่จุติ ถึงธรรมที่ไม่ตาย ถึงธรรมเป็นที่ดับ
เย็นอันยอดเยี่ยม รวมความว่า เราเห็นนรชนผู้หมดจดว่า เป็นผู้ไม่มีโรคอย่างยิ่ง
คำว่า ความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น อธิบายว่า ความ
หมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป
ย่อมมีแก่นรชนเพราะการเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ นรชนย่อมหมดจด คือ สะอาด
บริสุทธิ์ หลุดไป พ้นไป หลุดพ้นไป เพราะการเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ รวมความว่า
ความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/795-802/490-491

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :101 }