เมนู

ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ 29 สุตตันตปิฎกที่ 21 ขุททกนิกาย มหานิทเทส

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 1. กามสุตตนิทเทส

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย มหานิทเทส
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อัฏฐกวรรค
1. กามสุตตนิทเทส1
อธิบายกามสูตร
ว่าด้วยกาม 2 อย่าง

พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายกามสูตร ดังต่อไปนี้
[1] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ถ้ากามนั้นสำเร็จด้วยดีแก่สัตว์นั้น ผู้อยากได้กามอยู่
สัตว์นั้นได้กามตามที่ต้องการแล้ว ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่แท้
คำว่า ผู้อยากได้กามอยู่ อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้แก่ กาม 2 อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (1) วัตถุกาม
(2) กิเลสกาม
วัตถุกาม คืออะไร
คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าพอใจ เครื่องปูลาด เครื่องนุ่งห่ม
ทาสหญิงชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ที่นา ที่สวน เงิน ทอง หมู่บ้าน
นิคม ราชธานี แคว้น ชนบท2 กองพลรบ3 คลังหลวง4 และวัตถุที่น่ายินดีอย่างใด
อย่างหนึ่ง (เหล่านี้) ชื่อว่าวัตถุกาม

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/773-778/486
2 ชนบท หมายถึง รัฐหลาย ๆ รัฐมารวมกัน มีกาสีชนบทและโกศลชนบท เป็นต้น (ขุ.ม.อ. 1/14)
3 กองพลรบ มี 4 เหล่า คือ (1) กองพลช้าง (2) กองพลม้า (3) กองพลรถ (4) กองพลทหารราบ (ขุ.ม.อ.
1/14)
4 คลังหลวง มี 3 อย่าง คือ (1) คลังทรัพย์สิน (2) คลังพืชพันธุ์ธัญญาหาร (3) คลังผ้า (ขุ.ม.อ. 1/14)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :1 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 1. กามสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง กามที่เป็นอดีต ที่เป็นอนาคต ที่เป็นปัจจุบัน กามที่เป็นภายใน
ที่เป็นภายนอก ที่เป็นทั้งภายในและภายนอก กามอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่าง
ประณีต กามที่เป็นของสัตว์ในอบาย ที่เป็นของมนุษย์ ที่เป็นของทิพย์ กามที่ปรากฏ
เฉพาะหน้า ที่เนรมิตขึ้นเอง ที่ไม่ได้เนรมิตขึ้นเอง ที่ผู้อื่นเนรมิตให้ กามที่มีผู้
ครอบครอง ที่ไม่มีผู้ครอบครอง ที่ยึดถือว่าเป็นของเรา ที่ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา
สภาวธรรมที่เป็นกามาวจร1 ที่เป็นรูปาวจร2 ที่เป็นอรูปาวจร3แม้ทั้งปวง กามที่เป็นเหตุ
เกิดแห่งตัณหา เป็นอารมณ์แห่งตัณหา ที่ชื่อว่ากาม เพราะมีความหมายว่า
น่าปรารถนา น่ายินดี น่าลุ่มหลง เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม
กิเลสกาม คืออะไร
คือ ความพอใจ ความกำหนัด ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ความดำริ
ความกำหนัด ความกำหนัดด้วยอำนาจความดำริชื่อว่ากาม ได้แก่ ความพอใจด้วย
อำนาจความใคร่ ความกำหนัดด้วยอำนาจความใคร่ ความเพลิดเพลินด้วยอำนาจ
ความใคร่ ความทะยานอยากด้วยอำนาจความใคร่ ความเยื่อใยด้วยอำนาจความใคร่
ความเร่าร้อนด้วยอำนาจความใคร่ ความสยบด้วยอำนาจความใคร่ ความติดใจด้วย
อำนาจความใคร่ ห้วงน้ำคือความใคร่ กิเลสเครื่องประกอบคือความใคร่ กิเลสเครื่อง
ยึดมั่นคือความใคร่ กิเลสเครื่องกั้นจิตคือความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ในกาม
ทั้งหลาย
(สมจริงดังที่พระเจ้าอัฑฒมาสกเปล่งอุทานว่า)
เจ้ากามเอ๋ย เราเห็นรากเหง้าของเจ้าแล้ว
เจ้าเกิดเพราะความดำริ เราจักไม่ดำริถึงเจ้าอีก
เจ้าจักไม่เกิดมาเป็นอย่างนี้ได้อีกละเจ้ากามเอ๋ย4
เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม

เชิงอรรถ :
1 กามาวจร คือระดับจิตของผู้ที่ยังปรารภกามเป็นอารมณ์ ได้แก่ จิตของสัตว์ในกามภพทั้ง 11 ชั้น คือ
(1) อบายภูมิ 4 (2) มนุษยโลก (3) สวรรค์ 6 ชั้น (ขุ.ม.อ. 1/16)
2 รูปาวจร คือระดับจิตของผู้ได้รูปฌาน ได้แก่ สัตว์ผู้เกิดในพรหมโลก 16 ชั้น ตั้งแต่ชั้นพรหมปาริสัชชา
จนถึงชั้นอกนิฏฐา (ขุ.ม.อ. 1/16)
3 อรูปาวจร คือ ระดับจิตของผู้ได้อรูปฌาน ได้แก่ สัตว์ผู้เกิดในอรูปพรหม 4 ชั้น (ขุ.ม.อ. 1/16)
4 ขุ.ชา. 27/39/188, ขุ.จู. 30/8/39

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :2 }