เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 2.มหาหังสชาดก (534)
[94] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐสูงสุดกว่าฝูงหงส์
ข้าพระองค์เป็นเด็กรุ่นเดียวกับพระองค์1
เป็นเพื่อนของพระองค์ ดำรงอยู่ในจิตใจของพระองค์
ข้าพระองค์เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นเสนาบดีของพระองค์
[95] ข้าพระองค์ไปจากที่นี้แล้ว
จักอธิบายในท่ามกลางหมู่ญาติได้อย่างไร
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ
ข้าพระองค์ละทิ้งพระองค์จากที่นี้ไปแล้ว
จะชี้แจงกับฝูงหงส์เหล่านั้นได้อย่างไร
ข้าพระองค์ยอมสละชีวิตทิ้งไว้ในที่นี้
จะไม่พยายามทำกรรมอันไม่ประเสริฐ
(พญาหงส์โพธิสัตว์เมื่อจะสรรเสริญคุณของหงส์สุมุขะ จึงกล่าวว่า)
[96] สุมุขะ การที่ท่านไม่พยายามที่จะทอดทิ้งเรา
ผู้เป็นทั้งนาย เป็นทั้งเพื่อน
ชื่อว่าดำรงอยู่ในทางของพระอริยะ
นั้นเป็นธรรมของโบราณกบัณฑิต
[97] ก็แลเมื่อเราเห็นท่าน ก็ไม่เกิดความสะดุ้งกลัวเลย
แต่ท่านจะประสบอันตรายเหมือนชีวิตของเราที่เป็นอยู่ในขณะนี้
(พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[98] เมื่อพญาหงส์ทั้ง 2 ผู้ประเสริฐมีความประพฤติเยี่ยงพระอริยะ
กล่าวปรึกษากันอยู่อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้
นายพรานถือท่อนไม้กระชับมั่นรีบด่วนเข้ามาถึงตัว

เชิงอรรถ :
1 เด็กรุ่นเดียวกับพระองค์ หมายถึงถือปฏิสนธิวันเดียวกัน ออกจากไข่ในวันเดียวกัน และเจริญเติบโตมา
ด้วยกัน (ขุ.ชา.อ. 8/94/235)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :99 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 2.มหาหังสชาดก (534)
[99] หงส์สุมุขะครั้นเห็นนายพรานกำลังเดินเข้ามา
จึงจับอยู่เบื้องหน้าพญาหงส์
เมื่อจะปลอบพญาหงส์ผู้หวาดกลัวให้เบาใจ
จึงได้กล่าวขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า
[100] อย่าทรงกลัวเลย พระองค์ผู้ประเสริฐ
ด้วยว่า คนทั้งหลายเช่นกับพระองค์หากลัวไม่
ข้าพระองค์จักประกอบความเพียรอันเนื่องด้วยธรรมอันสมควร
ด้วยความเพียรอันผ่องแผ้วนั้น
พระองค์จักพ้นจากบ่วงโดยเร็วพลัน
(พระบรมศาสดาตรัสว่า)
[101] นายพรานได้สดับคำสุภาษิตของหงส์สุมุขะนั้น
ก็มีโลมชาติชูชัน จึงได้น้อมอัญชลีต่อหงส์สุมุขะนั้น
ด้วยกล่าวว่า
[102] เราไม่เคยได้ยินหรือเคยได้เห็นนกพูดภาษาคนได้
นกพูดถ้อยคำอันประเสริฐ เปล่งวาจาภาษามนุษย์ได้
[103] หงส์ตัวนี้เป็นอะไรกับเจ้า
เจ้าพ้นแล้วยังเฝ้าหงส์ตัวติดบ่วงอยู่ใกล้ ๆ
หงส์ทั้งหลายพากันละทิ้งหนีไป
ทำไมเจ้าจึงเหลืออยู่แต่ผู้เดียว
(หงส์สุมุขะถูกนายพรานถามแล้ว จึงตอบว่า)
[104] ท่านผู้เป็นศัตรูของฝูงนก
หงส์นั้นเป็นราชาของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้ารับตำแหน่งเป็นเสนาบดีของพระองค์
เมื่อมีภัยอันตราย ข้าพเจ้าไม่สามารถจะละทิ้งพระองค์
ผู้เป็นอธิบดีแห่งฝูงวิหคไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :100 }