เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 1.จูฬหังสชาดก (533)
(พญาหงส์โพธิสัตว์ทูลถามว่า)
[62] พระราชเทวีผู้มีพระชาติเสมอกับพระองค์
ทรงเชื่อฟัง ตรัสพระวาจาอ่อนหวานน่ารัก
ทรงมีพระโอรสประกอบด้วยพระรูปโฉมและอิสริยยศ
ทรงคล้อยตามพระอัธยาศัยของพระองค์หรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[63] ก็พระเทวีผู้มีพระชาติเสมอกับเรา
เชื่อฟัง กล่าววาจาอ่อนหวานน่ารัก
มีพระโอรสประกอบด้วยพระรูปโฉมและอิสริยยศ
ยังคล้อยตามอัธยาศัยของเราอยู่
[64] ท่านผู้เจริญตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูผู้ร้ายกาจนั้น
ถึงความลำบากมากเพราะอันตรายเบื้องต้นนั้นหรือ
[65] นายพรานได้วิ่งเข้าไปใช้ท่อนไม้โบยตีท่านหรือ
เพราะคนต่ำทรามเหล่านี้จะมีปกติเป็นอย่างนี้ในขณะนั้น
(พญาหงส์โพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[66] ขอเดชะมหาราช ในคราวมีอันตรายอย่างนี้
ความปลอดภัยได้มีแล้ว ด้วยว่านายพรานผู้นี้
หาได้ดำเนินการบางสิ่งบางอย่าง
ในข้าพระองค์ทั้ง 2 เหมือนศัตรูไม่
[67] นายพรานค่อย ๆ ก้าวเข้าไปหาและได้ปราศรัยขึ้นก่อน
ในกาลนั้นสุมุขบัณฑิตผู้นี้แหละได้กล่าวตอบ
[68] นายพรานสดับคำของสุมุขวิหคนั้นแล้วจึงกลับเลื่อมใส
จากนั้นจึงได้ปลดปล่อยข้าพระองค์จากบ่วง
และอนุญาตให้ไปได้ตามสบาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :94 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 1.จูฬหังสชาดก (533)
[69] ก็การมาสู่สำนักของพระองค์ผู้ทรงพระเจริญนี้
สุมุขวิหคนั่นแหละปรารถนาทรัพย์เพื่อนายพรานผู้นี้
ได้คิดแล้วเพื่อประโยชน์แก่เขา
(พระราชาตรัสว่า)
[70] ก็การมาของท่านผู้เจริญนี้เป็นการมาดีแล้วทีเดียว
และเราก็ยินดีเพราะได้เห็นท่าน
อนึ่ง แม้นายพรานนี้จะได้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจจำนวนมาก
ตามที่ตนปรารถนา
(พระศาสดาเมื่อจะทรงเผยข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[71] พระราชาผู้เป็นอธิบดีแห่งมนุษย์
ทรงยังนายพรานให้อิ่มเอมใจด้วยโภคะทั้งหลายแล้ว
เมื่อจะตรัสวาจาอันระรื่นหู จึงตรัสกับพญาหงส์ว่า
[72] ได้ยินว่า อำนาจของเราผู้ทรงธรรม
ย่อมเป็นไปในที่มีประมาณเล็กน้อย
ความเป็นใหญ่ในที่ทั้งปวงจงมีแก่ท่าน
ขอท่านจงปกครองตามความปรารถนาเถิด
[73] อนึ่ง สิ่งอื่นใดย่อมเข้าไปสำเร็จเพื่อประโยชน์
แก่การต้านทานหรือเพื่อการเสวยราชสมบัติได้
สิ่งนั้นซึ่งเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจเราขอยกให้ท่าน
และขอสละอิสริยยศให้แก่ท่านด้วย
(พระราชาเมื่อจะทรงสนทนากับหงส์สุมุขะ จึงตรัสว่า)
[74] ก็ถ้าว่าหงส์สุมุขะผู้เป็นบัณฑิตถึงพร้อมด้วยปัญญานี้
จะพึงเจรจากับเราตามความปรารถนาบ้าง
ข้อนั้นจะพึงเป็นที่รักยิ่งแห่งเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :95 }