เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 1.จูฬหังสชาดก (533)
[41] ข้าแต่มหาราช พญาหงส์ธตรัฏฐะทั้งหลายเหล่านี้
เป็นอธิบดีแห่งหงส์ หงส์ตัวนี้เป็นราชาแห่งหงส์ทั้งหลาย
ส่วนอีกตัวหนึ่งนี้เป็นเสนาบดี
(พระราชารับสั่งถามว่า)
[42] ก็วิหคเหล่านี้ตกอยู่ในเงื้อมมือของเจ้าได้อย่างไร
เจ้าเป็นพรานจับวิหคที่เป็นใหญ่กว่าวิหคทั้งหลาย
มาในที่นี้ได้อย่างไร
(นายพรานกราบทูลว่า)
[43] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งชน
บ่วงเหล่านี้ข้าพระองค์ได้วางไว้ที่เปือกตมทั้งหลาย
ซึ่งเป็นสถานที่ที่ข้าพระองค์เข้าใจว่า
เป็นสถานที่ประชุมแห่งนก
เป็นสถานที่ปลิดชีวิตนกทั้งหลาย
[44] พญาหงส์เข้ามาใกล้บ่วงเช่นนั้นแล้วก็ไม่รู้
ส่วนนกตัวนี้ไม่ได้ติดบ่วง แต่จับอยู่ใกล้ ๆ พญาหงส์นั้น
ได้พูดกับข้าพระองค์
[45] วิหคผู้ประกอบแล้วในธรรม
เมื่อบากบั่นในประโยชน์ของผู้เป็นนาย
ได้ประกาศภาวะอันอุดมซึ่งคนผู้มิใช่อริยะกระทำได้ยาก
[46] วิหคนี้ยังควรที่จะมีชีวิตอยู่ แต่กลับสละชีวิตของตนเอง
จับอยู่อย่างไม่ทอดถอนท้อแท้ใจ
วิงวอนร้องขอชีวิตของผู้เป็นนาย
[47] ข้าพระองค์สดับคำของวิหคนั้นแล้วจึงกลับเลื่อมใส
จากนั้นจึงได้ปลดปล่อยพญาหงส์จากบ่วง
และอนุญาตให้ไปได้ตามสบาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :91 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 1.จูฬหังสชาดก (533)
[48] หงส์สุมุขะนั้นมีความเคารพต่อผู้เป็นนาย
มีความปลื้มใจเพราะพญาหงส์ผู้เป็นนายพ้นจากบ่วง
เมื่อจะกล่าววาจาอันระรื่นหู จึงได้กล่าวว่า
[49] นายพราน วันนี้ข้าพเจ้ายินดีเบิกบานใจ
เพราะได้เห็นพญานกพ้นจากบ่วงแล้วฉันใด
ขอท่านจงยินดีเบิกบานใจพร้อมกับหมู่ญาติทั้งปวงฉันนั้นเถิด
[50] มาเถิด ข้าพเจ้าจะบอกท่านโดยวิธีที่ท่านจะได้ลาภ
พญาหงส์ธตรัฏฐะนี้มิได้มุ่งร้ายอะไรต่อท่านเลย
[51] ท่านจงรีบนำข้าพเจ้าทั้ง 2
ซึ่งจับอยู่ที่หาบทั้ง 2 ข้างเป็นปกติ ไม่ถูกผูกมัด
ไปภายในเมืองแล้วแสดงต่อพระราชาว่า
[52] ข้าแต่มหาราช พญาหงส์ธตรัฏฐะทั้ง 2 นี้
เป็นอธิบดีแห่งหงส์ หงส์นี้เป็นราชาแห่งหงส์ทั้งหลาย
ส่วนอีกตัวหนึ่งนี้เป็นเสนาบดี
[53] พระราชาผู้ทรงเป็นนราธิบดีทอดพระเนตรเห็นพญาหงส์นี้แล้ว
จะทรงปรีดา ปลาบปลื้ม พอพระทัย
จะพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ท่าน
เป็นจำนวนมากอย่างไม่ต้องสงสัย
[54] หงส์ทั้ง 2 เหล่านี้ข้าพระองค์นำมา
ตามคำของหงส์สุมุขะนั้น ด้วยประการฉะนี้
ความจริง ข้าพระองค์ได้อนุญาต
ให้หงส์ทั้ง 2 เหล่านี้อยู่ที่สระนั้นตามเดิม
[55] ก็สุมุขพญาปักษีทิชาชาติตัวนี้นั้น
เป็นหงส์ประกอบอยู่ในธรรมอย่างยิ่ง
แม้ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูอย่างนี้
ก็ยังทำนายพรานเช่นข้าพระองค์ให้เกิดความอ่อนโยนได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :92 }