เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [20.สัตตตินิบาต] รวมชาดกที่มีในนิบาต
[179] หากว่าสังคหวัตถุเหล่านี้ไม่พึงมีไซร้
มารดาไม่พึงได้การนับถือหรือการบูชาเพราะเหตุแห่งบุตรเลย
หรือบิดาไม่พึงได้การนับถือหรือการบูชาเพราะเหตุแห่งบุตรเลย
[180] ก็เพราะบัณฑิตทั้งหลายพิจารณาเห็นสังคหวัตถุเหล่านี้โดยชอบ
เพราะฉะนั้น จึงบรรลุถึงความเป็นผู้ใหญ่
ทั้งบัณฑิตเหล่านั้นยังเป็นผู้น่าสรรเสริญอีกด้วย
[181] มารดาและบิดาทั้งหลายบัณฑิตกล่าวว่า
1. เป็นพรหมของบุตร
2. เป็นบุรพาจารย์ของบุตร
3. เป็นผู้ควรของต้อนรับบูชาของบุตร1
4. เป็นผู้อนุเคราะห์หมู่สัตว์คือบุตร
[182] เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงนอบน้อมและพึงสักการะ
มารดาและบิดาทั้ง 2 นั้นด้วยข้าวและน้ำ
ด้วยผ้านุ่งผ้าห่มและที่นอน ด้วยการอบตัวและอาบน้ำให้
และด้วยการล้างเท้าทั้ง 2 ให้ท่าน
[183] เพราะการบำรุงมารดาและบิดาทั้ง 2 นั้น
บัณฑิตทั้งหลายจึงสรรเสริญเขาในโลกนี้ทีเดียว
เขาตายไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์ ดังนี้แล
โสณนันทชาดกที่ 2 จบ

รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้
1. กุสชาดก 2. โสณนันทชาดก
สัตตตินิบาตจบ

เชิงอรรถ :
1 มารดาและบิดาเป็นพรหมของบุตร เพราะเป็นผู้เสมอด้วยพรหม คือ สูงสุด ประเสริฐสุดของบุตร เป็น
บุรพาจารย์ คือ เป็นอาจารย์คนแรกของบุตร เป็นผู้ควรของต้อนรับบูชา คือ สมควรแก่สักการะ
อย่างใดอย่างหนึ่งของบุตร (ขุ.ชา.อ. 8/181/197)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :84 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 1.จูฬหังสชาดก (533)
21. อสีตินิบาต
1. จูฬหังสชาดก (533)
ว่าด้วยพญาหงส์ติดบ่วง
(พญาหงส์โพธิสัตว์เมื่อจะทดลองใจหงส์สุมุขะ จึงกล่าวว่า)
[1] ท่านสุมุขะ ฝูงหงส์ไม่เหลียวแล พากันบินหนีไป
แม้ท่านก็จงหนีไปเถิด อย่ามัวกังวลอยู่เลย
ความเป็นสหายไม่มีอยู่ในผู้ติดบ่วง
(หงส์สุมุขะกล่าวว่า)
[2] ข้าพระองค์จะหนีไปหรือไม่หนีไปก็ตาม
เพราะการหนีไปและไม่หนีไปนั้น ข้าพระองค์จะไม่ตายก็หามิได้
เมื่อพระองค์มีความสุข ข้าพระองค์ได้พึ่งพาอาศัย
เมื่อพระองค์มีความทุกข์ ข้าพระองค์จะพึงละทิ้งไปได้อย่างไร
[3] การตายพร้อมกับพระองค์เท่านั้น
ประเสริฐกว่าการมีชีวิตอยู่โดยปราศจากพระองค์
การมีชีวิตโดยปราศจากพระองค์จะประเสริฐอะไร
[4] ข้าแต่มหาราช การที่ข้าพระองค์ละทิ้งพระองค์
ผู้ถึงความทุกข์อย่างนี้ไป นั่นไม่เป็นธรรมเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นอธิบดีแห่งหมู่วิหค
ข้าพระองค์ชอบใจคติของพระองค์
(พญาหงส์โพธิสัตว์กล่าวว่า)
[5] คติของเราผู้ติดบ่วงจะเป็นอย่างอื่นไป
จากโรงครัวใหญ่ได้อย่างไรเล่า
ท่านมีปัญญาคือความคิดพ้นบ่วงมาแล้ว
จะพอใจคตินั้นได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :85 }