เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [20.สัตตตินิบาต] 2.โสณนันทชาดก (532)
[173] บุตรที่บิดาเลี้ยงดูมาแล้วด้วยความลำบากอย่างนี้
ไม่บำรุงบิดา บุตรคนนั้นชื่อว่า
ประพฤติผิดในบิดา ย่อมเข้าถึงนรก
[174] ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า แม้ทรัพย์ที่เกิดขึ้น
แก่บุตรทั้งหลายผู้มีความต้องการทรัพย์ ก็พินาศไปบ้าง
บุตรนั้นย่อมถึงฐานะอันลำบากบ้าง เพราะไม่บำรุงมารดา
[175] ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า แม้ทรัพย์ที่เกิดขึ้น
แก่บุตรทั้งหลายผู้มีความต้องการทรัพย์ ก็พินาศไปบ้าง
บุตรนั้นย่อมถึงฐานะอันลำบากบ้าง เพราะไม่บำรุงบิดา
[176] ความเพลิดเพลินยินดี ความรื่นเริงบันเทิงใจ
และการหัวเราะเล่นหัวกันในกาลทุกเมื่อนั้น
บัณฑิตผู้รู้แจ้งจะพึงได้เพราะบำรุงมารดา
[177] ความเพลิดเพลินยินดี ความรื่นเริงบันเทิงใจ
และการหัวเราะเล่นหัวกันในกาลทุกเมื่อนั้น
บัณฑิตผู้รู้แจ้งจะพึงได้เพราะบำรุงบิดา
[178] สังคหวัตถุ1ทั้งหลาย คือ
1. ทาน (การให้) 2. ปิยวาจา (การเจรจาถ้อยคำที่น่ารัก)
3. อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์)
4. สมานัตตตา (ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลายตาม
สมควรในที่นั้น ๆ)
ทั้ง 4 ประการนี้ยังมีอยู่ในโลกนี้
เหมือนเพลารถยังมีแก่รถที่กำลังแล่นไป

เชิงอรรถ :
1 สังคหวัตถุ หมายถึงหลักการสงเคราะห์หรือธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจกันไว้ได้ ในที่นี้หมายถึงบุตรพึง
ปรนนิบัติมารดาบิดาด้วยหลัก 4 ประการ คือ (1) ทาน การให้(สิ่งของ)แก่มารดาบิดา (2) เปยยวัชชะ
พึงเจรจาแต่คำที่น่ารัก (3) อัตถจริยา พึงประพฤติประโยชน์ด้วยการทำหน้าที่(ของท่าน)ที่เกิดขึ้นให้สำเร็จ
(4) สมานัตตตา ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลายตามสมควร หมายถึงความประพฤติยำเกรงต่อผู้
ใหญ่ทั้งหลาย (ขุ.ชา.อ. 8/178/197)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :83 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [20.สัตตตินิบาต] รวมชาดกที่มีในนิบาต
[179] หากว่าสังคหวัตถุเหล่านี้ไม่พึงมีไซร้
มารดาไม่พึงได้การนับถือหรือการบูชาเพราะเหตุแห่งบุตรเลย
หรือบิดาไม่พึงได้การนับถือหรือการบูชาเพราะเหตุแห่งบุตรเลย
[180] ก็เพราะบัณฑิตทั้งหลายพิจารณาเห็นสังคหวัตถุเหล่านี้โดยชอบ
เพราะฉะนั้น จึงบรรลุถึงความเป็นผู้ใหญ่
ทั้งบัณฑิตเหล่านั้นยังเป็นผู้น่าสรรเสริญอีกด้วย
[181] มารดาและบิดาทั้งหลายบัณฑิตกล่าวว่า
1. เป็นพรหมของบุตร
2. เป็นบุรพาจารย์ของบุตร
3. เป็นผู้ควรของต้อนรับบูชาของบุตร1
4. เป็นผู้อนุเคราะห์หมู่สัตว์คือบุตร
[182] เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงนอบน้อมและพึงสักการะ
มารดาและบิดาทั้ง 2 นั้นด้วยข้าวและน้ำ
ด้วยผ้านุ่งผ้าห่มและที่นอน ด้วยการอบตัวและอาบน้ำให้
และด้วยการล้างเท้าทั้ง 2 ให้ท่าน
[183] เพราะการบำรุงมารดาและบิดาทั้ง 2 นั้น
บัณฑิตทั้งหลายจึงสรรเสริญเขาในโลกนี้ทีเดียว
เขาตายไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์ ดังนี้แล
โสณนันทชาดกที่ 2 จบ

รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้
1. กุสชาดก 2. โสณนันทชาดก
สัตตตินิบาตจบ

เชิงอรรถ :
1 มารดาและบิดาเป็นพรหมของบุตร เพราะเป็นผู้เสมอด้วยพรหม คือ สูงสุด ประเสริฐสุดของบุตร เป็น
บุรพาจารย์ คือ เป็นอาจารย์คนแรกของบุตร เป็นผู้ควรของต้อนรับบูชา คือ สมควรแก่สักการะ
อย่างใดอย่างหนึ่งของบุตร (ขุ.ชา.อ. 8/181/197)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :84 }