เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [20.สัตตตินิบาต] 2.โสณนันทชาดก (532)
[167] มารดาประคับประคองครรภ์อยู่หนึ่งปีหรือหย่อนกว่าบ้าง
แล้วจึงคลอดบุตร เพราะเหตุนั้น มารดานั้นจึงชื่อว่า
หญิงผู้ให้กำเนิดบุตร เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกท่านว่า
ชเนตตี หญิงผู้ยังบุตรให้เกิด
[168] เมื่อบุตรร้องไห้ มารดาก็ปลอบโยนให้ยินดีได้
ด้วยน้ำนมบ้าง ด้วยการร้องเพลงกล่อมบ้าง
ด้วยการกอดไว้แนบอกบ้าง
เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกท่านว่า
โตเสนตี หญิงผู้ยังบุตรให้ร่าเริงยินดี
[169] จากนั้น เมื่อลมแรงและแดดกล้า
มารดาก็กระทำความรักอย่างจับใจ
มองดูบุตรผู้ยังเป็นเด็กอ่อนไร้เดียงสาอยู่
เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกว่า
โปเสนตี หญิงผู้เลี้ยงดูบุตร
[170] ทรัพย์อันใดที่เป็นทรัพย์ของมารดาก็ดี
เป็นทรัพย์ของบิดาก็ดี
แม้ทรัพย์ทั้ง 2 มารดาก็คุ้มครองรักษาไว้เพื่อบุตรนั้น
ด้วยหมายใจว่า แม้ทรัพย์ทั้ง 2 นี้พึงเป็นของบุตรของเรา
[171] มารดาเมื่อให้บุตรสำเหนียกว่า
อย่างนี้ซิลูก อย่างโน้นซิลูก ย่อมลำบาก
และทราบว่าบุตรของตนเมื่อถึงคราวเป็นหนุ่ม
ลุ่มหลงมัวเมาในภรรยาของผู้อื่นอยู่จนดึกดื่นเที่ยงคืน
ไม่กลับมาในเวลาเย็น ก็ย่อมเดือดร้อน ด้วยประการฉะนี้
[172] บุตรที่มารดาเลี้ยงดูมาแล้วด้วยความลำบากอย่างนี้
ไม่บำรุงมารดา บุตรคนนั้นชื่อว่า
ประพฤติผิดในมารดา ย่อมเข้าถึงนรก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :82 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [20.สัตตตินิบาต] 2.โสณนันทชาดก (532)
[173] บุตรที่บิดาเลี้ยงดูมาแล้วด้วยความลำบากอย่างนี้
ไม่บำรุงบิดา บุตรคนนั้นชื่อว่า
ประพฤติผิดในบิดา ย่อมเข้าถึงนรก
[174] ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า แม้ทรัพย์ที่เกิดขึ้น
แก่บุตรทั้งหลายผู้มีความต้องการทรัพย์ ก็พินาศไปบ้าง
บุตรนั้นย่อมถึงฐานะอันลำบากบ้าง เพราะไม่บำรุงมารดา
[175] ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า แม้ทรัพย์ที่เกิดขึ้น
แก่บุตรทั้งหลายผู้มีความต้องการทรัพย์ ก็พินาศไปบ้าง
บุตรนั้นย่อมถึงฐานะอันลำบากบ้าง เพราะไม่บำรุงบิดา
[176] ความเพลิดเพลินยินดี ความรื่นเริงบันเทิงใจ
และการหัวเราะเล่นหัวกันในกาลทุกเมื่อนั้น
บัณฑิตผู้รู้แจ้งจะพึงได้เพราะบำรุงมารดา
[177] ความเพลิดเพลินยินดี ความรื่นเริงบันเทิงใจ
และการหัวเราะเล่นหัวกันในกาลทุกเมื่อนั้น
บัณฑิตผู้รู้แจ้งจะพึงได้เพราะบำรุงบิดา
[178] สังคหวัตถุ1ทั้งหลาย คือ
1. ทาน (การให้) 2. ปิยวาจา (การเจรจาถ้อยคำที่น่ารัก)
3. อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์)
4. สมานัตตตา (ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลายตาม
สมควรในที่นั้น ๆ)
ทั้ง 4 ประการนี้ยังมีอยู่ในโลกนี้
เหมือนเพลารถยังมีแก่รถที่กำลังแล่นไป

เชิงอรรถ :
1 สังคหวัตถุ หมายถึงหลักการสงเคราะห์หรือธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจกันไว้ได้ ในที่นี้หมายถึงบุตรพึง
ปรนนิบัติมารดาบิดาด้วยหลัก 4 ประการ คือ (1) ทาน การให้(สิ่งของ)แก่มารดาบิดา (2) เปยยวัชชะ
พึงเจรจาแต่คำที่น่ารัก (3) อัตถจริยา พึงประพฤติประโยชน์ด้วยการทำหน้าที่(ของท่าน)ที่เกิดขึ้นให้สำเร็จ
(4) สมานัตตตา ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลายตามสมควร หมายถึงความประพฤติยำเกรงต่อผู้
ใหญ่ทั้งหลาย (ขุ.ชา.อ. 8/178/197)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :83 }