เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [20.สัตตตินิบาต] 2.โสณนันทชาดก (532)
[160] แต่เมื่อใดแม่ตื่นขึ้นแล้วไม่เห็นนันทะมา
ความเศร้าโศกและความเสียใจมิใช่น้อยกลับทับถมโดยยิ่ง
[161] แม่เห็นนันทะกลับมาในวันนี้
ขอนันทะผู้เป็นที่รักของพ่อแม่จงเข้าไปยังเรือนของพวกเราเถิด
[162] นันทะเป็นลูกสุดที่รักแม้ของบิดา
นันทะไม่ควรจากเรือนนี้ไปอีก
พ่อโสณะ ขอนันทะจงได้สิ่งที่ตนปรารถนาเถิด
ขอนันทะจงบำรุงแม่เถิด
(โสณดาบสโพธิสัตว์ประกาศพระคุณของมารดาว่า)
[163] พ่อฤๅษี มารดาเป็นผู้อนุเคราะห์ เป็นที่พึ่ง
และเป็นผู้ให้รส (คือ น้ำนม) แก่พวกเรามาก่อน
เป็นหนทางแห่งโลกสวรรค์ มารดาปรารถนาเจ้า
[164] พ่อฤๅษี มารดาเป็นผู้ให้รสมาก่อน
เป็นผู้คุ้มครอง เป็นที่เข้าไปประกอบบุญกุศล
เป็นหนทางแห่งโลกสวรรค์ มารดาปรารถนาเจ้า
(โสณดาบสโพธิสัตว์เมื่อจะประกาศว่ามารดาเป็นผู้ทำกิจที่ทำได้ยากที่บุคคล
อื่นจะทำได้ จึงกล่าวว่า)
[165] มารดาเมื่อหวังผลคือบุตรจึงนอบน้อมเทวดา
และไต่ถามถึงฤกษ์ ฤดู และปีทั้งหลาย1
[166] เมื่อมารดานั้นมีระดู การตั้งครรภ์จึงมีได้
เพราะการตั้งครรภ์นั้น มารดาจึงมีการแพ้ท้อง
เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกท่านว่า สุหทา หญิงผู้มีใจดี2

เชิงอรรถ :
1 มารดานอบน้อมเทวดา หมายถึงทำการนอบน้อมคือบนบานต่อเทวดาว่า “ขอลูกจงเกิดขึ้นแก่เรา”
ถามถึงฤกษ์ ฤดู และปีทั้งหลาย หมายถึงมารดาต้องการทราบว่าบุตรเกิดในฤกษ์ ฤดู และปีใด จะ
มีอายุยืน อายุสั้นอย่างไร (ขุ.ชา.อ. 8/165/195-196)
2 เมื่อมารดานั้นมีระดู หมายถึงเมื่อต่อมเลือด(ไข่สุก)เกิดแล้ว ระดูไม่มาตามกำหนด มารดาได้ชื่อว่า สุหทา
หญิงผู้มีใจดี (เพราะในเวลานั้นมารดาจะเกิดความรักในบุตรที่เกิดในท้องของตน) (ขุ.ชา.อ. 8/166/196)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :81 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [20.สัตตตินิบาต] 2.โสณนันทชาดก (532)
[167] มารดาประคับประคองครรภ์อยู่หนึ่งปีหรือหย่อนกว่าบ้าง
แล้วจึงคลอดบุตร เพราะเหตุนั้น มารดานั้นจึงชื่อว่า
หญิงผู้ให้กำเนิดบุตร เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกท่านว่า
ชเนตตี หญิงผู้ยังบุตรให้เกิด
[168] เมื่อบุตรร้องไห้ มารดาก็ปลอบโยนให้ยินดีได้
ด้วยน้ำนมบ้าง ด้วยการร้องเพลงกล่อมบ้าง
ด้วยการกอดไว้แนบอกบ้าง
เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกท่านว่า
โตเสนตี หญิงผู้ยังบุตรให้ร่าเริงยินดี
[169] จากนั้น เมื่อลมแรงและแดดกล้า
มารดาก็กระทำความรักอย่างจับใจ
มองดูบุตรผู้ยังเป็นเด็กอ่อนไร้เดียงสาอยู่
เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกว่า
โปเสนตี หญิงผู้เลี้ยงดูบุตร
[170] ทรัพย์อันใดที่เป็นทรัพย์ของมารดาก็ดี
เป็นทรัพย์ของบิดาก็ดี
แม้ทรัพย์ทั้ง 2 มารดาก็คุ้มครองรักษาไว้เพื่อบุตรนั้น
ด้วยหมายใจว่า แม้ทรัพย์ทั้ง 2 นี้พึงเป็นของบุตรของเรา
[171] มารดาเมื่อให้บุตรสำเหนียกว่า
อย่างนี้ซิลูก อย่างโน้นซิลูก ย่อมลำบาก
และทราบว่าบุตรของตนเมื่อถึงคราวเป็นหนุ่ม
ลุ่มหลงมัวเมาในภรรยาของผู้อื่นอยู่จนดึกดื่นเที่ยงคืน
ไม่กลับมาในเวลาเย็น ก็ย่อมเดือดร้อน ด้วยประการฉะนี้
[172] บุตรที่มารดาเลี้ยงดูมาแล้วด้วยความลำบากอย่างนี้
ไม่บำรุงมารดา บุตรคนนั้นชื่อว่า
ประพฤติผิดในมารดา ย่อมเข้าถึงนรก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :82 }