เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [20.สัตตตินิบาต] 2.โสณนันทชาดก (532)
(ลำดับนั้น นันทบัณฑิตกล่าวว่า)
[152] ถ้าท่านพี่ไม่ยอมรับรู้
ถึงการประคองอัญชลีของข้าพเจ้าผู้วิงวอนอยู่อย่างนี้
ข้าพเจ้าจักประพฤติตามท่านพี่ จักตั้งใจปฏิบัติบำรุงท่านพี่
(โสณดาบสโพธิสัตว์เมื่อจะประกาศคุณของนันทบัณฑิต จึงกล่าวว่า)
[153] นันทะ เธอรู้แจ้งชัดถึงสัทธรรม
ที่สัตบุรุษทั้งหลายแสดงไว้แล้วอย่างแท้จริง
เธอเป็นผู้ประเสริฐ มีมารยาทงาม พี่พอใจเธอยิ่งนัก
[154] พี่จะบอกท่านพ่อท่านแม่
ขอท่านทั้ง 2 จงฟังคำของข้าพเจ้า
ภาระนี้เป็นเพียงภาระชั่วครั้งชั่วคราวของข้าพเจ้าหามิได้
[155] นันทดาบส กระทำการขอขมาโทษอ้อนวอนขอกับข้าพเจ้า
เพื่อบำรุงท่านทั้ง 2 อันเป็นการอุปัฏฐาก
ที่นำความสุขมาให้แก่มารดาบิดานั้นบ้าง
[156] บรรดาท่านทั้ง 2 ผู้สงบ ประพฤติพรหมจรรย์
ท่านผู้ใดปรารถนา ขอท่านคนหนึ่งจงปรารถนานันทะเถิด
ขอนันทะจงบำรุงใครคนหนึ่งในท่านทั้ง 2 ตามต้องการเถิด
(มารดาของโสณดาบสโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[157] โสณะ แม่และพ่ออาศัยเธอ เธออนุญาตแล้ว
แม่พึงได้จุมพิตนันทะผู้ประพฤติพรหมจรรย์ที่กระหม่อมเถิด
[158] เพราะนานเหลือเกินจึงได้เห็นนันทะ
หัวใจของแม่ย่อมหวั่นไหว
เหมือนใบอ่อนของต้นโพธิ์ถูกลมพัดไหวไปมา
[159] เมื่อใดแม่หลับลงฝันเห็นนันทะมา
แม่ก็เบิกบานดีใจว่า ลูกนันทะของแม่มาแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :80 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [20.สัตตตินิบาต] 2.โสณนันทชาดก (532)
[160] แต่เมื่อใดแม่ตื่นขึ้นแล้วไม่เห็นนันทะมา
ความเศร้าโศกและความเสียใจมิใช่น้อยกลับทับถมโดยยิ่ง
[161] แม่เห็นนันทะกลับมาในวันนี้
ขอนันทะผู้เป็นที่รักของพ่อแม่จงเข้าไปยังเรือนของพวกเราเถิด
[162] นันทะเป็นลูกสุดที่รักแม้ของบิดา
นันทะไม่ควรจากเรือนนี้ไปอีก
พ่อโสณะ ขอนันทะจงได้สิ่งที่ตนปรารถนาเถิด
ขอนันทะจงบำรุงแม่เถิด
(โสณดาบสโพธิสัตว์ประกาศพระคุณของมารดาว่า)
[163] พ่อฤๅษี มารดาเป็นผู้อนุเคราะห์ เป็นที่พึ่ง
และเป็นผู้ให้รส (คือ น้ำนม) แก่พวกเรามาก่อน
เป็นหนทางแห่งโลกสวรรค์ มารดาปรารถนาเจ้า
[164] พ่อฤๅษี มารดาเป็นผู้ให้รสมาก่อน
เป็นผู้คุ้มครอง เป็นที่เข้าไปประกอบบุญกุศล
เป็นหนทางแห่งโลกสวรรค์ มารดาปรารถนาเจ้า
(โสณดาบสโพธิสัตว์เมื่อจะประกาศว่ามารดาเป็นผู้ทำกิจที่ทำได้ยากที่บุคคล
อื่นจะทำได้ จึงกล่าวว่า)
[165] มารดาเมื่อหวังผลคือบุตรจึงนอบน้อมเทวดา
และไต่ถามถึงฤกษ์ ฤดู และปีทั้งหลาย1
[166] เมื่อมารดานั้นมีระดู การตั้งครรภ์จึงมีได้
เพราะการตั้งครรภ์นั้น มารดาจึงมีการแพ้ท้อง
เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกท่านว่า สุหทา หญิงผู้มีใจดี2

เชิงอรรถ :
1 มารดานอบน้อมเทวดา หมายถึงทำการนอบน้อมคือบนบานต่อเทวดาว่า “ขอลูกจงเกิดขึ้นแก่เรา”
ถามถึงฤกษ์ ฤดู และปีทั้งหลาย หมายถึงมารดาต้องการทราบว่าบุตรเกิดในฤกษ์ ฤดู และปีใด จะ
มีอายุยืน อายุสั้นอย่างไร (ขุ.ชา.อ. 8/165/195-196)
2 เมื่อมารดานั้นมีระดู หมายถึงเมื่อต่อมเลือด(ไข่สุก)เกิดแล้ว ระดูไม่มาตามกำหนด มารดาได้ชื่อว่า สุหทา
หญิงผู้มีใจดี (เพราะในเวลานั้นมารดาจะเกิดความรักในบุตรที่เกิดในท้องของตน) (ขุ.ชา.อ. 8/166/196)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :81 }