เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 10.เวสสันดรชาดก (547) กัณฑ์สักกบรรพ
[2284] แผ่นดินก็บันลือลั่นแก่พระองค์
กิตติศัพท์ของพระองค์บันลือไปถึงสวรรค์ชั้นไตรทิพย์
สายฟ้าก็แลบแปลบปลาบอยู่โดยรอบ
ดังสะท้านปานประหนึ่งว่าภูเขาถล่มทลาย
[2285] เทพเจ้าทั้ง 2 หมู่ผู้สิงสถิตอยู่ ณ ภูเขานารทะ
ต่างถวายอนุโมทนาแด่พระเวสสันดรนั้นว่า
พระอินทร์ พระพรหม ท้าวประชาบดี
พระโสม ยมยักษ์ ท้าวเวสสุวรรณมหาราชและทวยเทพทั้งมวล
ต่างก็ถวายอนุโมทนาว่า พระองค์ทรงกระทำสิ่งที่ทำได้ยากแท้
[2286] สัตบุรุษทั้งหลายเมื่อจะให้ทานชื่อว่าให้ได้ยาก1
เมื่อจะทำกรรมก็ชื่อว่าทำได้ยาก
ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายพวกอสัตบุรุษรู้ได้ยาก
[2287] เพราะฉะนั้น สัตบุรุษและอสัตบุรุษ
จึงมีคติที่ไปจากโลกนี้ต่างกัน คือ
พวกอสัตบุรุษย่อมไปสู่นรก พวกสัตบุรุษย่อมไปสู่สวรรค์
[2288] การที่พระองค์เสด็จมาประทับอยู่ในป่า
ได้พระราชทานพระกุมารทั้งหลายและพระชายาให้เป็นทานนี้
ชื่อว่าเป็นยานอันประเสริฐ ไม่เป็นยานที่พาก้าวลงสู่อบายภูมิ
ขอมหาทานของพระองค์จงเผล็ดผลในสวรรค์เถิด
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[2289] ข้าพเจ้าขอถวายพระนางมัทรีพระชายา
ผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กายคืนแก่พระคุณเจ้า
พระองค์เท่านั้นทรงเป็นผู้คู่ควรกับพระนางมัทรี
และพระนางมัทรีก็เป็นผู้คู่ควรแก่พระสวามี
[2290] น้ำนมและสังข์ทั้ง 2 มีสีเหมือนกันฉันใด
พระองค์และพระนางมัทรีก็ทรงมีพระทัยเสมอเหมือนกันฉันนั้น

เชิงอรรถ :
1 ดู ขุ.ชา. แปล 27/59-60/79

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :537 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 10.เวสสันดรชาดก (547) กัณฑ์สักกบรรพ
[2291] ทั้ง 2 พระองค์เป็นกษัตริย์ผู้สมบูรณ์ด้วยพระโคตร
เป็นอุภโตสุชาติ1ทั้งฝ่ายพระมารดาและพระบิดา
ทรงถูกเนรเทศจากแคว้นมาอยู่ ณ อาศรมในป่านี้
บุญทั้งหลายที่พระองค์กระทำมาแล้วฉันใด
ขอพระองค์ทรงให้ทาน กระทำบุญอยู่ร่ำไปฉันนั้น
[2292] ข้าแต่พระราชฤๅษี หม่อมฉันเป็นท้าวสักกะจอมเทพ
มาในสำนักของพระองค์ ขอพระองค์ทรงเลือกรับพร
หม่อมฉันขอถวายพร 8 ประการแก่พระองค์
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[2293] ข้าแต่ท้าวสักกะผู้ทรงเป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
ถ้าพระองค์จะประสาทพรแก่หม่อมฉัน
ขอให้พระบิดาจงมารับหม่อมฉัน
ขอพระบิดาทรงต้อนรับหม่อมฉัน
ผู้ออกจากป่านี้ไปถึงเรือนของตนด้วยราชอาสน์
นี้เป็นพรประการที่ 1
[2294] ขอให้หม่อมฉันไม่พึงชอบใจการฆ่าคน
อนึ่ง แม้ผู้นั้นจะเป็นนักโทษถึงประหารชีวิต
ผู้กระทำความผิดอย่างร้ายแรง
ขอให้หม่อมฉันพึงได้ปลดปล่อยให้พ้นจากการถูกประหารชีวิต
นี้เป็นพรประการที่ 2
[2295] ขอให้ประชาชนทั้งหลายทั้งคนแก่ ทั้งเด็ก และคนปานกลาง
พึงเข้ามาอาศัยหม่อมฉันเลี้ยงชีวิต
นี้เป็นพรประการที่ 3

เชิงอรรถ :
1 อุภโตสุชาติ หมายถึงมีวรรณะเสมอกัน คือ บริสุทธิ์ทั้ง 2 ฝ่าย (ขุ.ชา.อ. 10/2219/426)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :538 }