เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 10.เวสสันดรชาดก (547) กัณฑ์หิมพานต์
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[1666] นางผู้งามทั่วทั้งสรรพางค์กาย
พร 10 ประการใด ที่เราได้ให้เธอ
เธอจักได้พรเหล่านั้นทั้งหมด
ในแคว้นของพระเจ้ากรุงสีพี
[1667] ท้าววาสวมฆวานสุชัมบดีเทวราช
ครั้นตรัสพระดำรัสนี้ จึงโปรดประทานพร
แก่พระนางผุสดีแล้วทรงอนุโมทนา
กัณฑ์ทศพร จบ

กัณฑ์หิมพานต์
(พระศาสดาตรัสเนื้อความนี้ว่า)
พระนางผุสดีนั้น
จุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นแล้ว
มาบังเกิดในตระกูลกษัตริย์
ได้ทรงอยู่ร่วมกับพระเจ้าสัญชัยในกรุงเชตุดร
พระนางผุสดีทรงครรภ์ถ้วนทศมาสแล้ว
เมื่อทรงทำประทักษิณพระนคร
ได้ประสูติเราในท่ามกลางถนนของพวกพ่อค้า
ชื่อของเรามิได้เนื่องมาแต่พระมารดาและมิได้เกิดแต่พระบิดา
เราเกิดที่ถนนของพวกพ่อค้า
ฉะนั้น เราจึงชื่อว่า เวสสันดร
เมื่อเรายังเป็นเด็กเล็กเกิดได้ 8 ขวบ
นั่งอยู่บนปราสาท คิดที่จะบริจาคทานว่า
เราพึงให้หทัย ดวงตา เนื้อ เลือด และร่างกาย
ถ้าว่าจะมีใครมาขอเรา เราก็ยินดีบริจาคให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :449 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 10.เวสสันดรชาดก (547) กัณฑ์หิมพานต์
เมื่อเราคิดจะบริจาคทานตามสภาพความเป็นจริง
ใจก็ไม่หวั่นไหวมุ่งมั่นอยู่ในกาลนั้น
เหมือนแผ่นดินมีภูเขาสิเนรุและหมู่ไม้เป็นเครื่องประดับ
(พระเวสสันดรตรัสกับพวกพราหมณ์ผู้มาทูลขอช้างว่า)
[1668] พวกพราหมณ์ผู้มีขนรักแร้ดก
และมีเล็บยาว มีขี้ฟันเขรอะ มีธุลีบนศีรษะ
เหยียดแขนข้างขวาออก จะขออะไรฉันหรือ
(พวกพราหมณ์กราบทูลว่า)
[1669] ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ทั้งหลายทูลขอรัตนะ
ที่เป็นเครื่องทำให้แคว้นของชาวกรุงสีพีเจริญ
ขอได้โปรดพระราชทานช้างตัวประเสริฐ
มีงาดุจงอนไถ มีกำลังสามารถเถิด
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[1670] เราจะให้ช้างพลายซับมันตัวประเสริฐ
ซึ่งเป็นช้างพาหนะอันสูงสุด
ที่พวกพราหมณ์ขอเรา เรามิได้หวั่นไหว
[1671] พระราชาผู้ทรงผดุงแคว้นให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
มีพระทัยน้อมไปในการบริจาค
เสด็จลงจากคอช้าง ทรงให้ทานแก่พราหมณ์ทั้งหลาย
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[1672] เมื่อพระเจ้ากรุงสีพีพระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว
คราวนั้นความน่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้าก็ได้เกิดขึ้น
แผ่นดินก็กัมปนาทหวั่นไหว
[1673] เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว
คราวนั้นความน่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้าก็ได้เกิดขึ้น
ชาวพระนครก็กำเริบเสิบสาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :450 }